คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6705/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นแต่เพียงทำให้จำเลยหมดโอกาสที่จะผ่อนชำระหนี้เพื่อบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดของจำเลยอีกต่อไปเท่านั้นการพิจารณาความผิดทางอาญาของจำเลยยังดำเนินต่อไปได้ ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เหมือนอย่างในคดีแพ่ง ดังนั้นกระบวนพิจารณาคดีอาญาที่ศาลล่างทั้งสองกระทำต่อมาภายหลังจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษ จำเลยชดใช้เงินให้ผู้เสียหายบ้างแล้ว จึงลงโทษสถานเบา จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 4 กระทง จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกกระทงละ 4 เดือนรวม 4 กระทง จำคุก 16 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยออกเช็คตามฟ้องทั้งสี่ฉบับมอบให้นายบุรงค์ แซ่ตัง ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมาย ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องเพราะถูกบังคับให้ออกเช็ค เป็นการฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ไม่วินิจฉัยให้ที่จำเลยยกปัญหาดังกล่าวมาในชั้นฎีกาอีก จึงเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2541จำเลยถูกศาลจังหวัดสุรินทร์สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 9/2541 พระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 24 ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้ต่างแทน ปัญหาข้อนี้จำเลยยกขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้วินิจฉัยศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาในชั้นฎีกาได้ ตามบทบัญญัติมาตรา 24 ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่จำกัดอำนาจในการจัดการทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้หรือจำเลยในทางแพ่งเท่านั้น แต่คดีนี้เป็นคดีอาญาแม้ในการที่จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำผิดคดีนี้ จำเลยจะได้แถลงว่าจะผ่อนชำระหนี้ตามเช็คให้แก่ผู้เสียหายเพราะรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น อันถือได้ว่าเป็นการกระทำในทางแพ่งอย่างหนึ่งแต่ก็ปรากฏว่าจำเลยได้ผ่อนชำระเงินให้แก่ผู้เสียหาย ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายดังกล่าวแล้วทั้งสิ้น หลังจากถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายในคดีนี้อีกเลย การที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดต้องถือว่าเพียงแต่ทำให้จำเลยหมดโอกาสที่จะผ่อนชำระหนี้เพื่อบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดของจำเลยอีกต่อไปเท่านั้น การพิจารณาความผิดทางอาญาของจำเลยยังดำเนินต่อไปได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาต่อไป ล้วนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในทางอาญาซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เหมือนอย่างในคดีแพ่ง กระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 กระทำต่อไปในคดีนี้หลังจากจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อแรกนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยหรือไม่ เห็นว่าแม้เช็คของจำเลยที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินจะมีจำนวนถึง 4 ฉบับ เป็นจำนวนเงินมากถึง 1,798,150 บาท แต่จำเลยก็รู้สึกความผิด ยอมรับสารภาพและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดด้วยการผ่อนชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายหลายครั้ง ทั้งโดยการโอนรถยนต์และทรัพย์สินอื่นตีใช้หนี้และผ่อนชำระหนี้ด้วยเงินสดจำนวนมากบ้างน้อยบ้างอยู่เป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งในขณะถูกพิทักษ์ทรัพย์นั้น หนี้ของผู้เสียหายเหลืออยู่เพียง 750,000 บาท ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนหนี้เดิม กรณีนับว่าเป็นเรื่องน่าเห็นใจ เห็นได้ว่าจำเลยได้พยายามกระทำอย่างดีที่สุดแล้วจึงมีเหตุอันควรปรานี การลงโทษจำคุกระยะสั้นนอกจากจะไม่เกิดผลในทางแก้ไขฟื้นฟูแล้วยังทำให้จำเลยต้องมีมลทินติดตัว ไม่เกิดประโยชน์อย่างใด หากรอการลงโทษจำคุกเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัว น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวมมากกว่า”
พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share