คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานรังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ 8430 ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนด กลับขอให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงบังคับตามคำขอไม่ได้ พิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 อีก แม้คำขอท้ายฟ้องจะขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 มิให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทของโจทก์ตลอดไปก็ตาม แต่ตามคำฟ้องก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีกภายหลังจากศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีก่อนแล้ว การที่โจทก์ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 มิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จึงเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน คดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 1จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ได้ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในเขตจังหวัดตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 61(2)การเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทจึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์มีหนังสือร้องขอให้จำเลยที่ 2 ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินพิพาทของโจทก์ แต่จำเลยที่ 2ไม่ดำเนินการให้ ย่อมถือได้ว่าสิทธิของโจทก์ถูกจำเลยที่ 2 โต้แย้งแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานรังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ 8430ตำบลท่ามะขาม จังหวัดกาญจนบุรี ทับที่ดินมือเปล่าของโจทก์ทั้งแปลงโดยทุจริต โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1256/2537 ของศาลชั้นต้น ต่อมาโจทก์ยื่นเรื่องราวขอให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเพิกถอนโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61(2) เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 8430 ที่ออกทับที่ดินของโจทก์ดังกล่าวแต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉย จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลผู้มีอำนาจควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงต้องร่วมรับผิดต่อการกระทำของจำเลยที่ 2 ด้วย ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 8430 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และห้ามจำเลยที่ 1 มิให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ตลอดไป
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้ว มีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ไม่รับฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานรังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ 8430 ทับที่ดินพิพาทของโจทก์และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนด กลับขอให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงรับตามคำขอไม่ได้พิพากษายกฟ้อง ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1256/2537 ของศาลชั้นต้น และคดีถึงที่สุดแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1256/2537 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1256/2537 ของศาลชั้นต้นเป็นคู่ความเดียวกัน และประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1256/2537 มีเหตุอย่างเดียวกันคือขอให้พิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 นำไปออกโฉนดที่ดินเลขที่ 8430 ว่าเป็นของโจทก์หรือไม่ แม้คำขอท้ายฟ้องในคดีนี้จะขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 มิให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทของโจทก์ตลอดไปก็ตาม แต่ตามคำฟ้องก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีกภายหลังจากศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยคดีก่อนแล้ว การที่โจทก์ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 มิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทย่อมเป็นการห้ามเกี่ยวเนื่องกับคดีก่อน เพราะการฟ้องห้ามจำเลยที่ 1 มิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จึงเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1256/2537 ของศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ได้ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในเขตจังหวัดกาญจนบุรีตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61(2) การเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทจึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์มีหนังสือร้องขอให้จำเลยที่ 2ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินพิพาทของโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการให้ ย่อมถือได้ว่าสิทธิของโจทก์ถูกจำเลยที่ 2 โต้แย้งแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รับฟ้องจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

Share