คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 191/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยขออนุญาตเอาพระพุทธรูปบูชาของผู้เสียหายลงไปดูกลางแสงแดดที่พื้นดินหน้าบ้าน แล้วอุ้มพระพุทธรูปวิ่งหนีไปขึ้นรถยนต์ปิกอัพซึ่งพวกของจำเลยจอดรออยู่โดยมีการวางแผนเตรียมการมาก่อนแล้วหลบหนีไปกับรถยนต์ดังกล่าวไม่เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ เพราะไม่ได้ฉกฉวยเอาซึ่งหน้า คงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคท้าย
จำเลยซึ่งเป็นทหารร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าพวกของจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารหรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนตามมาตรา 14(1) และมาตรา 15 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติ ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336,336 ทวิ, 83 และขอให้จำเลยคืนพระพุทธรูปบูชาหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ให้จำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนพระพุทธรูปบูชาแก่ผู้เสียหายคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 100,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุกจำเลย 4 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนางประดับ สุขอาภรณ์ ผู้เสียหายและนายเชาว์ สุขสว่าง สามีของผู้เสียหายมาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 13 นาฬิกา ขณะที่พยานทั้งสองอยู่ที่บ้านในจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบ้านยกพื้นสูง จำเลยมาขอดูพระพุทธรูปบูชาของผู้เสียหายซึ่งมีราคาประมาณ 100,000 บาท นายเชาว์ยกเอาพระพุทธรูปมาให้จำเลยดูที่ห้องโถงกลางบ้าน จำเลยดูพระอยู่ประมาณ10 นาที แล้วอุ้มไปดูที่บริเวณริมหน้าต่าง นายเชาว์จึงเข้าไปในครัว จำเลยบอกผู้เสียหายว่าขออุ้มพระลงไปดูข้างล่างกับแสงแดดแล้วก็อุ้มพระเดินลงบันไดไป ผู้เสียหายเข้าไปบอกนายเชาว์ให้ออกมาดูเพราะเกรงว่าจำเลยจะเอาพระไป เมื่อพยานทั้งสองออกมาดูอีกครั้งเห็นจำเลยวิ่งไปตามถนนทางเท้าไปสู่ถนนใหญ่ห่างบ้านประมาณ30 เมตร ผู้เสียหายร้องบอกให้ชาวบ้านช่วยจับจำเลย ส่วนนายเชาว์วิ่งไปดักอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นทางที่รถจะต้องวิ่งออกไป เมื่อวิ่งไปห่างถนนประมาณ 60 เมตร ก็เห็นรถยนต์ปิกอัพสีฟ้าแล่นด้วยความเร็วออกไป ในรถมีคนนั่งอยู่ประมาณ 2 คน นายเชาว์กลับบ้านและวิ่งไปหากำนันกับตำรวจข้าง ๆ บ้านแต่ไม่อยู่ เมื่อตามตำรวจมาแล้วได้ขอให้ช่วยพูดวิทยุสกัดจับแต่ไม่สามารถสกัดจับได้ นายเชาว์จึงกลับบ้านผู้เสียหายจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางคนที นอกจากนี้นายบัญญัติ พันธ์ประสิทธิเวช พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 13 นาฬิกา พยานกำลังเล่นตะกร้ออยู่กับเพื่อนประมาณ 6 คนที่บริเวณหลังบ้านผู้เสียหาย ได้ยินเสียงผู้เสียหายตะโกนว่าเขาเอาพระไปแล้ว และพยานเห็นจำเลยวิ่งอยู่ห่างจากหลังบ้านผู้เสียหายประมาณ 5-6 เมตร จำเลยวิ่งไปได้ประมาณ20 เมตรก็ถึงถนน เพื่อนของพยานวิ่งตามไป ส่วนพยานวิ่งไปดักอีกทางหนึ่ง เมื่อไปถึงถนนเห็นรถยนต์ปิกอัพยี่ห้อมาสด้าสีฟ้าเร่งเครื่องแล่นผ่านพยานไปด้วยความเร็ว ในรถยนต์มีชาย 2 คน แต่พยานไม่ทราบว่าเป็นใคร จากนั้นพยานก็กลับบ้าน เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสามไม่มีสาเหตุกับจำเลยและเบิกความสอดคล้องต้องกัน จึงไม่มีเหตุน่าระแวงสงสัยว่าจะมาเบิกความปรักปรำจำเลย นอกจากนี้จำเลยเองก็เบิกความรับว่าจำเลยเอาพระพุทธรูปไปโดยไม่ได้บอกผู้เสียหายเพียงแต่อ้างว่าเหตุที่ไม่ได้บอกเพราะจำเลยได้บอกนางบุญมากสุขอาภรณ์ มารดาของผู้เสียหายไว้ก่อนแล้วและจำเลยต้องรีบกลับไปทำงานจึงอุ้มพระพุทธรูปลงเรือรับจ้างไป ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวเห็นได้ว่าไม่มีเหตุผลเพราะได้ความว่าจำเลยดูพระพุทธรูปอยู่เป็นเวลาประมาณ 10 นาที โดยบอกผู้เสียหายและนายเชาว์เพียงว่า ขอดูพระก่อนแล้วจะให้เจ้านายจำเลยมาดูเพื่อจะขอเช่าเท่านั้น จำเลยไม่ได้บอกผู้เสียหายเลยว่านางบุญมากอนุญาตให้นำพระพุทธรูปไปได้การที่จำเลยเอาพระพุทธรูปไปในพฤติการณ์ดังที่โจทก์นำสืบมาจึงฟังได้ว่าเป็นการเอาไปโดยทุจริต ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดเนื่องจากได้ขออนุญาตนางบุญมากซึ่งเป็นป้าของจำเลยไว้แล้ว นางบุญมากเดือดร้อนเรื่องเงินได้บอกให้จำเลยและญาติ ๆ ช่วยติดต่อจำหน่ายพระพุทธรูปให้นั้น ก็ได้ความจากตัวจำเลย นายปรีชาจันทร์หนู และนายสมบุญ จันทร์หนู พยานจำเลยว่า นางบุญมากเคยบอกว่าต้องการขายพระพุทธรูปบูชาเมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อนเกิดเหตุซึ่งนับได้ว่าเป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้ว และหากนางบุญมากต้องการขายพระพุทธรูปด้วยเหตุดังกล่าวจริงแล้วเมื่อจำเลยขายได้เงินมาก็จะต้องนำไปให้นางบุญมาก แต่ได้ความจากจำเลยเองว่า เมื่อจำเลยขายพระพุทธรูปไปได้ในราคา 20,000 บาท จำเลยกลับนำเงินไปให้นายเชาว์ที่บ้าน แต่นายเชาว์ไม่ยอมรับ นอกจากนี้ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยก็ไม่ยอมให้การโดยอ้างว่าจะมาให้การในชั้นศาล โดยไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงไม่ยอมให้การเพราะหากเป็นความจริงดังที่จำเลยต่อสู้แล้วจำเลยย่อมจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ เพราะในขณะนั้นนางบุญมากสุขอาภรณ์ ก็ยังมีชีวิตอยู่ และได้ความจากนางสาวจรรยา เลขาวิจิตรพยานจำเลยว่าหลังจากเกิดเหตุประมาณ 20 วัน นางบุญมากก็ได้ออกจากโรงพยาบาลไปอยู่กับนางประดับที่กรุงเทพมหานครแล้ว หากจำเลยอ้างเหตุดังกล่าว พนักงานสอบสวนย่อมจะทำการสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่แน่ชัด การที่จำเลยเพิ่งอ้างเรื่องนี้ขึ้นมาในชั้นศาลจึงเป็นข้อพิรุธและไม่อาจรับฟังเป็นความจริงได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาว่า พยานโจทก์เพียงแต่เห็นรถยนต์ปิกอัพแล่นออกไปและมีคน 2 คนในรถดังกล่าว แต่ไม่มีใครเห็นตอนจำเลยมากับรถและตอนที่จำเลยหลบหนี ทั้งพยานโจทก์ไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยอยู่ในรถปิกอัพคันดังกล่าวด้วย จึงลงโทษจำเลยฐานร่วมกับพวกลักทรัพยืโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกในการกระทำความผิด การพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุมไม่ได้นั้น ได้ความจากคำของนายเชาว์และนายบัญญัติพยานโจทก์ว่า เมื่อพยานทั้งสองเห็นจำเลยวิ่งหลบหนีไปจากบ้านที่เกิดเหตุพยานทั้งสองได้วิ่งไปดักอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นทางที่รถจะต้องแล่นออกไป ทันใดนั้นมีรถยนต์ปิกอัพ 1 คันแล่นออกไปด้วยความเร็ว โดยภายในรถมีชาย 2 คนนั่งอยู่ แม้พยานทั้งสองจะไม่ทราบว่าจำเลยอยู่ในรถหรือไม่เพราะกระจกรถนั้นปิดแต่ก็ได้ความจากนายบัญญัติว่าพวกของนายบัญญัติได้วิ่งตามจำเลยไปทันที แต่ก็จับจำเลยไม่ได้ จำเลยอุ้มพระพุทธรูปโลหะขนาดหน้าตักกว้าง 1 ศอก สูง 1 ศอก วิ่งหนีไป หากจำเลยไม่ขึ้นรถยนต์คันดังกล่าวหลบหนีไปก็จะต้องถูกพวกของนายบัญญัติจับได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยอุ้มพระพุทธรูปของผู้เสียหายวิ่งหนีไปขึ้นรถยนต์ปิกอัพซึ่งพวกของจำเลยจอดรออยู่โดยมีการวางแผนเตรียมการมาก่อนแล้วหลบหนีไปในรถยนต์คันดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยคดีนี้ไม่เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์เพราะจำเลยไม่ได้ลักพระพุทธรูปไปโดยการฉกฉวยเอาซึ่งหน้าคงเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิด การพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นทหารชั้นประทวนประจำการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนได้นั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าพวกของจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารหรือไม่ คดีนี้จึงต้องขึ้นศาลพลเรือน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนได้ตามมาตรา 14(1) และมาตรา 15วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ที่จำเลยฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า หากฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดก็ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบาหรือรอการลงโทษให้จำเลยนั้นพฤติการณ์แห่งคดีนี้ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้จำเลยแต่อย่างไรก็ตามได้ความว่าหลังเกิดเหตุประมาณ 1 สัปดาห์ จำเลยได้ไปหาผู้เสียหายที่บ้านและยอมรับกับนายเชาว์สามีของผู้เสียหายว่าที่จำเลยเอาพระพุทธรูปบูชาไปเพราะเดือดร้อนเรื่องเงินกับจำเลยพยายามหาทางตกลงชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายด้วย แต่ตกลงกันไม่ได้ศาลฎีกาเห็นว่า โทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมานั้นหนักเกินไปเห็นสมควรกำหนดโทษของจำเลยใหม่ให้เหมาะสมกับรูปคดีและสภาพความผิด”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(7) วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ, 83 ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share