คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ผลิตเหล็กเส้นที่ใช้ในการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานเป็นจำนวนมากโดยหลีกเลี่ยงและฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยหรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่ประชาชน นับได้ว่าเป็นภยันตรายต่อประชาชนและอาจเป็นเหตุให้ประชาชนขาดความนิยมเชื่อถือ อันจะก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเหล็กเส้นซึ่งเป็นผลเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ ทั้งจำเลยที่ 2 เคยผลิตเหล็กเส้นไม่ได้มาตรฐานจนถูกศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นหมายนัดจำเลยที่ 2 มาฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จำเลยที่ 2 หลีกเลี่ยงไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลชั้นต้นต้องออกหมายจับและก็ยังไม่ได้ตัวจำเลยที่ 2 มารับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ดังนี้ พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.5 มิลลิเมตร จำนวน 12 มัด มัดละ400 เส้น น้ำหนัก 9.6 ตัน อันเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ไม่เป็นไปตามมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 15, 17, 20, 48 พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตต้องเป็นไปตามมาตรฐาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2521 ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 267 (พ.ศ. 2520) เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กรีดซ้ำ ลงวันที่ 11 มีนาคม 2520
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 15, 17, 20, 48พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตต้องเป็นไปตามมาตรฐาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2521ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 267 (พ.ศ. 2520) เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กรีดซ้ำลงวันที่ 11 มีนาคม 2520 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 50,000บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 25,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 25,000 บาทโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2ปี ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อ 1 ครั้ง ภายในระยะเวลา 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 2 โดยไม่รอการลงโทษและไม่ปรับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยมีผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ผลิตเหล็กเส้นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.5มิลลิเมตร จำนวน 12 มัด มัดละ 400 เส้น น้ำหนัก 9.6 ตัน ไม่ได้มาตรฐานตามกฎหมาย คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ผลิตเหล็กเส้นอันเป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานเป็นจำนวนมากนั้น เป็นการหลีกเลี่ยงและฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัย หรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่ประชาชนการกระทำของจำเลยจึงนับได้ว่าเป็นภยันตรายต่อประชาชน และอาจเป็นเหตุให้ประชาชนขาดความนิยมเชื่อถืออันจะก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเหล็กเส้นซึ่งเป็นผลเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังปรากฏจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 2 เคยผลิตเหล็กเส้นไม่ได้มาตรฐานจนถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษไปแล้ว จำเลยที่ 2กลับมากระทำความผิดทำนองเดียวกันนี้อีก โดยหาได้สำนึกผิดและเกรงกลัวต่อกฎหมายของบ้านเมืองแต่อย่างใดไม่ นอกจากนี้เมื่อศาลชั้นต้นหมายนัดจำเลยที่ 2 มาฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ได้หลีกเลี่ยงไม่มาฟังคำพิพากษาจนศาลชั้นต้นต้องออกหมายจับจำเลยที่ 2 มาฟังคำพิพากษา และตั้งแต่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยที่ 2 และออกหมายจับจำเลยที่ 2มารับโทษตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ก็ยังไม่ได้ตัวจำเลยที่ 2 มา ดังนี้ พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2…’
พิพากษายืน.

Share