คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 861/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด พ.ศ.2492(ฮ.ศ.1368) ข้อ 20 กำหนดจำนวนกรรมการที่จะเป็นองค์ประชุมไว้ว่ากรรมการมาประชุมเกินกว่ากึ่งหนึ่งจึงนับเป็นองค์ประชุม เมื่อกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครมีจำนวน15 นายกรรมการต้องมาประชุมอย่างน้อย 8 นาย จึงจะครบเป็นองค์ประชุมการประชุมของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครจำนวน 7 นายที่ลงมติถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งอิหม่ามไม่ครบองค์ประชุมจึงไม่มีผลบังคับโจทก์
แม้ข้อบังคับการประชุมฯ จะกำหนดให้ใช้ข้อบังคับนี้นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประธานกรรมการลงนามแล้วเป็นต้นไปและข้อบังคับที่ส่งศาลไม่ได้ระบุวันเดือนปีที่ประกาศไม่ได้ลงชื่อประธานกรรมการคงมีแต่แบบพิมพ์เว้นว่างไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นเอกสารที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างอิงคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้คัดค้านว่าเป็นข้อบังคับที่ไม่มีต้นฉบับหรือว่าต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือข้อความที่ลงพิมพ์ไม่ถูกต้องกับต้นฉบับจึงถือได้ว่าข้อบังคับดังกล่าวใช้บังคับแล้วและข้อความที่ลงพิมพ์ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์มีตำแหน่งเป็น “อิหม่าม” ของมัสยิดดารุ้ลมุตตะกีน (คู้) ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2514 จำเลยทั้งสามในฐานะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับกรรมการอื่นอีก 4 คน ได้ร่วมประชุมปลดหรือถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งอิหม่ามโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือ กรรมการทั้งหมดมีอยู่ 15 คน แต่มาประชุมเพียง 7 คน การประชุมจึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด พ.ศ. 2492ข้อ 20 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 7 ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488 ทั้งจำเลยทั้งสามไม่มีอำนาจที่จะถอดถอนโจทก์เพราะตามระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า)และวิธีดำเนินการอื่นเกี่ยวแก่ศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ. 2492 ข้อ 12 ระบุชัดว่า ตำแหน่งอิหม่ามเป็นตำแหน่งถาวร สิ้นสภาพลงเมื่อตายหรือลาออกเท่านั้น ก่อนจำเลยทั้งสามจะถอดถอนโจทก์ ไม่เคยเรียกโจทก์ไปสอบสวนให้ปรากฏเป็นความผิดแต่อย่างใด จึงขัดกับระเบียบดังกล่าว ขอให้ศาลพิพากษาว่า รายงานการประชุมของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครของจำเลยกับพวก ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2514 กับคำสั่งถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งอิหม่ามลงวันที่ 7 (ที่ถูกเป็นวันที่ 8)พฤศจิกายน 2514 เป็นโมฆะ

จำเลยที่ 1 ที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิดได้ ตำแหน่งอิหม่ามเป็นประธานกรรมการอิสลามประจำมัสยิด จำเลยกับพวกจึงมีอำนาจที่จะถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งได้ จำเลยกับพวกได้ดำเนินการสอบสวนโจทก์ตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนแล้ว จนปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ละเมิดจริยาของกรรมการอิสลามประจำมัสยิด จำเลยกับพวกจึงประชุมลงมติและมีคำสั่งให้ถอดถอนโจทก์ตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 มาตรา 8การปะชุมของคณะกรรมการเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2514 เป็นไปโดยชอบแล้ว เพราะไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพ.ศ. 2492 ให้กรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการจำนวน 15 คน เป็นองค์ประชุมและคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครได้ประชุมวางระเบียบลงมติให้การประชุมแต่ละครั้งมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า7 คนเป็นองค์ประชุม

ในระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต

โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 แถลงยอมสละประเด็นอื่น ๆ และพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบไปแล้ว ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเพียง 2 ประเด็นคือ

1. จำเลยกับพวกรวม 7 คนในจำนวนกรรมการทั้งหมด 15 คนมีอำนาจเป็นองค์ประชุมหรือไม่

2. มติของจำเลยกับพวกดังกล่าวที่ให้ถอดถอนโจทก์จากตำแหน่งอิหม่าม ใช้บังคับโจทก์ได้หรือไม่

ทั้งสองฝ่ายขออ้างพยานเอกสารเฉพาะที่ศาลบันทึกไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 29 กันยายน 2520 เท่านั้น ไม่ประสงค์จะอ้างพยานเอกสารอื่นใดอีก

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้อง คำให้การและพยานเอกสารที่คู่ความอ้างเป็นพยานว่า โจทก์มีตำแหน่งเป็นอิหม่าม และเป็นประธานกรรมการอิสลามประจำมัสยิดดารุ้ลมุตตะกีน (คู้) ตามระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ. 2492 ข้อ 13 จ. และ ฉ. คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีอำนาจวินิจฉัยให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดพ้นจากตำแหน่งได้เมื่อเห็นว่ากรรมการอิสลามประจำมัสยิดมีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่มัสยิด หรือเป็นผู้ดำเนินการมัสยิดไปในทางไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อพระธรรมวินัยหรือกระทำการอันอาจเสื่อมเสียประโยชน์ของมัสยิด คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครมีจำนวน 15 คน ในการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2513 มีจำนวนกรรมการเข้าประชุม10 นาย ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถือจำนวนกรรมการ 7 นายเป็นองค์ประชุม ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 6/2514 เมื่อวันที่ 6พฤศจิกายน 2514 มีกรรมการเข้าประชุม 7 นาย ที่ประชุมพิจารณาการปฏิบัติงานในหน้าที่กรรมการมัสยิดของโจทก์แล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งอิหม่ามโดยเด็ดขาดทันที คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การประชุมของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครจำนวน 7 นาย ถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งอิหม่ามครบองค์ประชุมหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด พ.ศ. 2492 (ฮ.ศ. 1368) ข้อ 20 กำหนดจำนวนกรรมการที่จะเป็นองค์ประชุมไว้ว่า กรรมการมาประชุมเกินกว่ากึ่งหนึ่งจึงนับเป็นองค์ประชุม เมื่อกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครมีจำนวน 15 นาย กรรมการต้องมาประชุมอย่างน้อย8 นายจึงจะครบเป็นองค์ประชุม การประชุมของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครจำนวน 7 นายที่ลงมติถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งอิหม่ามไม่ครบองค์ประชุมจึงไม่มีผลบังคับโจทก์ แม้ว่าข้อบังคับการประชุมดังกล่าว ข้อ 2 ให้ใช้ข้อบังคับนี้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประธานกรรมการลงนามแล้วเป็นต้นไป แต่ข้อบังคับที่ส่งศาลไม่ได้ระบุ วัน เดือน ปีที่ประกาศ และไม่ได้ลงชื่อประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คงมีแต่แบบพิมพ์เว้นว่างไว้แต่ก็เป็นเอกสารที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างอิง โดยโจทก์อ้างเฉพาะหมวด 3 ว่าด้วยการประชุม และจำเลยอ้างเฉพาะหมวด 10 บทสุดท้าย และบันทึกต่อท้าย ข้อบังคับนี้รวมพิมพ์อยู่ในหนังสือ “ประมวลกฎหมายและระเบียบราชการฝ่ายอิสลาม” คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้คัดค้านว่า เป็นข้อบังคับที่ไม่มีต้นฉบับ หรือว่าต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือดังกล่าวไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ จึงถือได้ว่าข้อบังคับดังกล่าวใช้บังคับแล้ว และข้อความที่ลงพิมพ์ถูกต้อง ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125

พิพากษากลับเป็นว่า คำสั่งถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งอิหม่ามลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2514 ไม่มีผลบังคับโจทก์

Share