คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 642/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 3)2474ซึ่งแก้ไขมาตรา 49 พระราชบัญญัติศุลกากร2469 หมายถึง เรือที่ที่บรรทุกสินค้าหรือมิฉะนั้นก็เป็นเรือที่ไม่ได้บรรทุกสินค้าแต่เป็นเรือที่ต้องมีอับเฉา
โจทก์ยอมรับอยู่แล้วว่าอับเฉาหมายถึงของหนักอื่นๆที่ถ่วงท้องเรือกันมิให้เรือโคลง โจทก์จะขอสืบพยานเพื่อแปลความหมายของคำว่า อับเฉาให้เป็นอย่างอื่น หาได้ไม่
(อ้างฎีกา 6/2484)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจพาเรือยนต์ของจำเลยซึ่งไม่ได้บรรทุกสินค้าและเป็นเรือ ซึ่งมีแต่อับเฉาออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้ขออนุญาต และยื่นรายงานตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้เจ้าพนักงานเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและออกใบอนุญาตปล่อยเรือเสียก่อน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร 2469 มาตรา 49 และพระราชบัญญัติศุลกากรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) 2474 มาตรา 5จำเลยให้การรับว่า เป็นเจ้าของเรือยนต์และได้พาออกนอกราชอาณาจักรโดยมิได้ใบอนุญาตและใบปล่อยเรือตามฟ้อง เรือนี้มิได้บรรทุกสินค้าจริง แต่มิได้มีอับเฉาหรือเครื่องถ่วงให้เรือโคลง โจทก์ขอสืบพยานอธิบายความหมายของคำ อับเฉา จำเลยไม่ติดใจสืบพยานศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน แล้วพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 3) 2474 ซึ่งแก้ไขมาตรา 49 หมายความถึงเรือบรรทุกสินค้าหรือมิฉะนั้น ก็เป็นเรือที่ไม่ได้บรรทุกสินค้าแต่เป็นเรือที่มีอับเฉา คำว่า อับเฉา นี้โจทก์ก็ยอมรับอยู่ว่าหมายถึงของหนักอื่น ๆที่ถ่วงท้องเรือกันมิให้โคลง โจทก์จะขอสืบพยานเพื่อแปลความหมายของอับเฉาให้ผันแปรไปอย่างอื่นหาได้ไม่

พิพากษายืน

Share