คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2303/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยมีปลอกกระสุนปืนโดยมิได้รับอนุญาตนั้นเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 7 จะต้องระวางโทษตามมาตรา 72 วรรคหนึ่งมิใช่วรรคสอง เพราะวรรคสองเป็นบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนมาตรา 7เฉพาะกรณีเกี่ยวกับส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืน ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงเท่านั้น เมื่อวรรคหนึ่งมีบทกำหนดโทษจำคุกและปรับจึงต้องลงโทษทั้งจำคุกและปรับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2512 เวลากลางวัน จำเลยมีปลอกกระสุนปืนขนาด .38 มม. 6 ปลอก ซึ่งเป็นสิ่งประกอบกระสุนปืน อันเป็นเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมายไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ เหตุเกิดที่ตำบลด่าน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ตามวันเวลาดังกล่าวเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยปลอกกระสุนปืนดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510มาตรา 3 และริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพว่าจำเลยมีปลอกกระสุนปืนไว้ในความครอบครองจริงดังฟ้องโดยตั้งใจจะเอาไว้ทำยันต์เครื่องรางให้ลูก

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ปลอกกระสุนปืนที่จำเลยมีไว้ในความครอบครองเป็นส่วนที่เหลือจากการใช้กระสุนปืนไปแล้ว ไม่ใช่เครื่องกระสุนปืนตามความหมายของกฎหมาย จำเลยไม่มีความผิดพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ปลอกกระสุนปืนของกลางนี้เมื่อบรรจุดินปืนและหัวกระสุนใหม่แล้วก็ใช้ยิงได้ทันทีจึงเป็นเครื่องกระสุนปืนตามความหมายของพระราชบัญญัติอาวุธปืน จำเลยมีความผิดตามฟ้องพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 ให้ปรับจำเลย 300 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อทางพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลย 150 บาท ไม่ชำระจัดการตามมาตรา 29, 30 ของกลางริบ

โจทก์ฎีกา ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยเพียงสถานเดียวเป็นการมิชอบ

ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว

คดีนี้มีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาแต่เฉพาะข้อกฎหมายข้อเดียวว่ากำหนดโทษความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งศาลอุทธรณ์ลงแก่จำเลยเป็นการชอบหรือไม่

พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 72 ซึ่งถูกยกเลิกโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 72 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท

ถ้าการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่งเป็นเพียงกรณีเกี่ยวกับส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ดังนี้ เห็นได้ว่าผู้มีเครื่องกระสุนปืนไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 7 นั้น จะต้องระวางโทษตามมาตรา 72 วรรค 1มิใช่วรรค 2 เพราะวรรค 2 เป็นบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนมาตรา 7 เฉพาะกรณีเกี่ยวกับส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงเท่านั้น ฉะนั้น การที่จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 7 จึงต้องระวางโทษตามวรรค 1 ซึ่งกำหนดทั้งจำคุกและปรับ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงแต่โทษปรับจึงเป็นการมิชอบ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะที่เกี่ยวกับกำหนดโทษให้ลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน และปรับหนึ่งพันบาท จำเลยให้การรับสารภาพต่อศาล เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เหลือโทษจำคุกสามเดือน และปรับห้าร้อยบาท โทษจำคุกให้ยกเสีย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 คงให้ปรับแต่อย่างเดียว ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share