คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3088/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันเป็นหนังสือ แม้จะมีการวางมัดจำด้วยก็ถือได้ว่าการวางมัดจำเป็นแต่เพียงข้อสัญญาข้อหนึ่งเท่านั้น หาใช่ทำสัญญากันด้วยการวางมัดจำไม่ การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อตกลงเพิ่มเติมว่าจำเลยจะต้องรื้อบ้านหรือไถ่ถอนจำนองก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ จึงเป็นข้อความที่เพิ่มเติมจากสัญญาต้องห้ามมิให้รับฟังและถือไม่ได้ว่ามีข้อตกลงดังกล่าว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1545/2492)
เมื่อระยะเวลาตามสัญญาได้ล่วงพ้นไปแล้ว จำเลยได้กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้ โดยจำเลยได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ในการโอนที่ดินให้โจทก์ในวันที่กำหนดตามหนังสือบอกกล่าว จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องมารับโอนและชำระราคาในวันนัด การที่โจทก์ไม่มารับโอนและไม่ชำระราคาโดยไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมายจึงถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบมัดจำได้ แม้โจทก์จะกำหนดเวลาโอนขึ้นใหม่ในภายหลังก็ไม่มีผล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตกลงขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนกับส่วนของนายชิดเชื้อผู้ไม่อยู่ซึ่งจำเลยเป็นผู้จัดการทรัพย์สินตามคำสั่งศาลให้แก่โจทก์ โดยจะรังวัดแบ่งแยกจากโฉนดเดิมให้ได้เนื้อที่ตามสัญญา และจะรื้อเรือนออกจากที่ดินให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญาโจทก์ตกลงและวางมัดจำไว้จำนวนหนึ่ง ปรากฏตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายท้ายฟ้อง แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดข้อตกลงไว้ในสัญญาต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินที่ซื้อขายในวันที่ 7 มีนาคม 2522 โจทก์ไปตรวจดูที่ดินปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้รื้อเรือน ทั้งที่ดินที่ซื้อขายยังมีชื่อผู้อื่นถือกรรมสิทธิ์รวมและติดจำนองอยู่กับธนาคาร โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยจัดการรื้อถอนบ้านและไถ่ถอนจำนองให้เสร็จก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2522 และให้เลื่อนไปจดทะเบียนโอนในวันนั้น แต่จำเลยไม่รื้อเรือนและไถ่ถอนจำนองและไม่ไปสำนักงานที่ดินตามนัด โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญา ขอบังคับให้จำเลยคืนมัดจำและใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ไม่มีข้อตกลงให้จำเลยรื้อเรือน โจทก์ทราบดีว่าที่ดินแปลงนี้ติดจำนองธนาคาร จำเลยแบ่งที่ดินออกเป็นแปลง ๆ เสร็จแล้วได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อกำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และชำระค่าที่ดินที่เหลือโจทก์ผัดผ่อนเรื่อยมา จนกระทั่งครบ 6 เดือนตามสัญญาจำเลยจึงมีหนังสือนัดหมายให้โจทก์ไปรับโอนที่ดินและชำระราคาที่เหลือ แต่โจทก์ไม่ไปตามนัด จำเลยถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จึงบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำ ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คู่สัญญามิได้กำหนดวันที่ที่จะไปทำการโอนให้แน่นอนไว้เป็นแต่เพียงประมาณว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 6 เดือน ทั้งนี้เพื่อให้เวลาจำเลยที่จะต้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการแบ่งแยกโฉนด เมื่อจำเลยแบ่งแยกโฉนดเสร็จก่อนกำหนดก็แจ้งให้โจทก์ทราบและให้โจทก์นัดหมายเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ แต่โจทก์ก็มิได้นัดหมายจำเลยจึงใช้สิทธินัดหมายให้โจทก์มารับโอนกรรมสิทธิ์และชำระราคาที่เหลือ ซึ่งเป็นเวลาที่ล่วงเลยกำหนด 6 เดือนตามสัญญาแล้ว การนัดหมายนี้เป็นเรื่องที่จำเลยกำหนดเวลาให้โจทก์มารับโอนและชำระหนี้ที่ยังเหลืออยู่ จึงไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องตกลงด้วยเพราะจำเลยก็ได้ให้เวลาแก่โจทก์พอสมควรแล้ว สำหรับปัญหาที่ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น ได้ความว่าเมื่อจำเลยนัดโจทก์ให้ไปรับโอนและชำระราคาโจทก์ไม่ไปโดยมีข้ออ้างว่าจำเลยจะต้องรื้อถอนบ้านและไถ่ถอนจำนองให้เสร็จสิ้นก่อนตามข้อตกลงและนัดโอนกันใหม่ ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่มีข้อตกลงดังกล่าว เห็นว่าโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกันโดยอาศัยหลักฐานเป็นหนังสือ แม้จะมีการวางมัดจำด้วยก็ถือว่าการวางมัดจำเป็นแต่เพียงข้อสัญญาข้อหนึ่งเท่านั้น หาใช่ตกลงทำสัญญากันด้วยการวางมัดจำไม่กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ที่ห้ามมิให้คู่ความนำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาอยู่อีก การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อตกลงเพิ่มเติมว่าจำเลยจะต้องรื้อบ้านไปก่อนที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ก็ดีหรือจำเลยจะต้องไถ่ถอนจำนองก่อนก็ดี ล้วนแต่เป็นข้อความที่เพิ่มเติมจากสัญญาดังกล่าวทั้งสิ้น ข้อนำสืบของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้รับฟังและถือไม่ได้ว่ามีข้อตกลงดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1545/2492 ฉะนั้นเมื่อระยะเวลาตามสัญญาได้ล่วงพ้นไปแล้วจำเลยได้กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้ โดยจำเลยขอปฏิบัติการชำระหนี้ในการโอนที่ดินให้โจทก์โดยจำเลยพร้อมแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องมารับโอนและชำระราคาตามนัดการที่โจทก์ไม่มารับโอนและไม่ชำระราคาโดยไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมายจึงถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาการที่จำเลยบอกเลิกสัญญาและริบมัดจำจึงเป็นการใช้สิทธิของจำเลยตามกฎหมาย แม้โจทก์จะกำหนดเวลาโอนขึ้นใหม่ในภายหลังก็หามีผลไม่

พิพากษายืน

Share