แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยให้การต่อสู้ด้วยว่า จำเลยมีอำนาจทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์หรือไม่ และก่อนฟ้องโจทก์ได้บอกกล่าวก่อนหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท จำเลยได้คัดค้านไว้แล้วเมื่อจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มิได้วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาจึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มขึ้นอีก 2 ข้อ ตามที่จำเลยฎีกาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่เพิ่มขึ้นไปเสียทีเดียว โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย จำเลยกับโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายให้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินกันภายหน้า แม้ขณะทำสัญญาผู้จะขายยังไม่มีกรรมสิทธิ์หรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่สมบูรณ์ สัญญาก็มีผลใช้บังคับได้ เพราะเมื่อสัญญาถึงกำหนด หากผู้จะขายผิดสัญญาโอนทรัพย์สินให้ผู้จะซื้อไม่ได้ผู้จะซื้อก็สามารถให้ผู้จะขายชดใช้ค่าเสียหายแทนการโอนทรัพย์สินที่จะขายได้ สัญญาจะซื้อขายกำหนดวันไปทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนไว้แน่นอนแล้ว โจทก์ไม่จำต้องบอกกล่าวก่อนฟ้อง การที่ พ.และด. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกที่ดินพิพาทมีชื่ออยู่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้ครอบครองแทนทายาท จำเลยเป็นทายาทของเจ้ามรดกที่ดินพิพาทย่อมตกได้แก่จำเลยเมื่อจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนางสาวมาลัยศิริวรรณ ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก.) เลขที่ 545 เลขที่ดินที่ 8 หมู่ที่ 8 ตำบลพลา กิ่งอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ให้โจทก์ในราคา 27,500 บาท จำเลยรับเงินมัดจำ2,500 บาท ไปแล้วในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือชำระกันในวันจดทะเบียนโอน ครั้นครบกำหนดตามสัญญาจำเลยไม่ยอมโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยโอนที่ดินตามฟ้องแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมแทนจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 27,500 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า สัญญาจะซื้อขายไม่ผูกพันเพราะจำเลยไม่ใช่ผู้จัดการมรดกและจำเลยไม่ใช่เป็นทายาทผู้เดียว หากมีทายาทอีกคนหนึ่งคือ นายชวน ศิริวรรณ จำเลยผู้เดียวจึงไม่มีสิทธิขายที่ดินมรดกหากฟังได้ว่าจำเลยมีอำนาจขายได้ จำเลยก็ทำสัญญาโดยถูกโจทก์กับพวกหลอกลวงให้ขายในราคาถูก สัญญาจะซื้อขายจึงเป็นโมฆียะ จำเลยบอกล้างแล้ว โจทก์ไม่เสียหาย หากเสียหายก็ไม่เกิน 1,000 บาท โจทก์ไม่เคยทวงถาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย และให้ใช้ค่าเสียหาย 5,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นพี่ชายและเป็นทายาทโดยธรรมของนางสาวมาลัย ศิริวรรณ เจ้ามรดกหลังจากสึกจากสมณเพศแล้ว จำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ จำเลยได้รับเงินมัดจำไปแล้วในวันทำสัญญาแต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ยอมโอนที่พิพาทให้โจทก์ตามสัญญา คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยหลายประการซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยตามลำดับไป
สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อที่ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียง 2 ข้อ คือ จำเลยทำสัญญากับโจทก์เพราะกลฉ้อฉลหรือไม่ และโจทก์เสียหายเพียงใด ทั้งที่ยังมีประเด็นข้อพิพาทอีก2 ข้อ คือ จำเลยมีอำนาจทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์หรือไม่ และก่อนฟ้องโจทก์ได้บอกกล่าวก่อนหรือไม่ เห็นว่า จำเลยได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงมีประเด็นข้อพิพาท 2 ข้อดังกล่าวด้วย จำเลยได้คัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้ดำเนินการให้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็หาได้วินิจฉัยให้ไม่ ศาลฎีกาจึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มขึ้นอีก 2 ข้อ ตามที่จำเลยฎีกาและเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่เพิ่มขึ้นไปเสียทีเดียว โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
สำหรับปัญหาตามประเด็นข้อที่ว่า จำเลยมีอำนาจทำสัญญากับโจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีอำนาจทำสัญญากับโจทก์ เพราะยังมีนายชวน ศิริวรรณ เป็นทายาทร่วมด้วย เห็นว่า สัญญาที่จำเลยทำกับโจทก์เป็นสัญญาจะซื้อขาย ให้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินกันภายหน้าแม้ขณะทำสัญญาผู้จะขายยังไม่มีกรรมสิทธิ์หรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่สมบูรณ์ สัญญาก็มีผลใช้บังคับได้เพราะเมื่อสัญญาถึงกำหนดผู้จะขายผิดสัญญาโอนทรัพย์สินให้ผู้จะซื้อไม่ได้ ผู้จะซื้อก็สามารถให้ผู้จะขายชดใช้ค่าเสียหายแทนการโอนทรัพย์ที่จะซื้อขายกันได้ประกอบกับนายชวนที่จำเลยอ้างว่าเป็นทายาทร่วมด้วย ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่า นายชวนออกจากบ้านไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ไม่ทราบว่าอยู่ในประเทศใดและไม่ทราบว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่ามีนายชวนเป็นทายาทร่วมด้วยจึงฟังไม่ขึ้น ดังนี้ สัญญาจะซื้อขายที่พิพาทที่จำเลยทำไว้กับโจทก์จึงมีผลใช้บังคับได้
ส่วนปัญหาตามประเด็นข้อที่ว่า ก่อนฟ้องโจทก์บอกกล่าวแล้วหรือไม่ เห็นว่าสัญญากำหนดวันไปทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนไว้แน่นอนแล้ว คือวันที่ 26 มิถุนายน 2525 โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวก่อน
สำหรับปัญหาข้อที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 20 กันยายน 2525 ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ว่าจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งทรัพย์มรดก ขณะจำเลยยังอยู่ในสมณเพศจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622ที่บัญญัติไว้ว่า พระภิกษุจะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมไม่ได้ และจำเลยไม่มีอำนาจจะนำที่พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์ในกองมรดกไปขายเพราะยังมีนายชวนเป็นทายาทอีกคนหนึ่งนั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยปัญหาตามคำร้องของจำเลยข้อนี้ไว้แล้วว่าคำร้องของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์หาได้วินิจฉัยให้ไม่โดยมิได้ให้เหตุผลไว้ ศาลฎีกาพิเคราะห์คำร้องของจำเลยแล้ว เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยอ้างดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตกลงกัน หามีผลทำให้สัญญาจะซื้อขายที่พิพาทที่จำเลยทำไว้กับโจทก์เสียไปไม่ส่วนที่จำเลยอ้างว่ายังมีนายชวนเป็นทายาทอีกคนหนึ่งนั้น เห็นว่าข้ออ้างนี้ยังไม่ยุติเพราะโจทก์มิได้ยอมรับจึงวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตามคำร้องของจำเลยยังไม่ได้
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยทำสัญญากับโจทก์เพราะถูกโจทก์ใช้กลฉ้อฉลนั้น จำเลยเบิกความว่าทำสัญญาโดยไม่ทราบว่าที่พิพาทมีราคาตามท้องตลาดเท่าไร และไม่ทราบว่าที่พิพาทอยู่ที่ใดนั้นเห็นว่า ที่จำเลยอ้างว่าไม่ทราบว่าที่พิพาทมีราคาเท่าไร ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่า เมื่อเจ้ามรดกยังไม่ถึงแก่กรรม จำเลยไปเยี่ยมเจ้ามรดกทุกเดือน บางเดือนถึง 2 ครั้ง บางครั้งอยู่ค้างคืนเจ้ามรดกได้เล่าให้ฟังถึงราคาที่ดินที่เจ้ามรดกมีอยู่ ดังนี้ ที่จำเลยว่าไม่ทราบว่าที่พิพาทมีราคาแท้จริงเท่าไรจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่พิพาทอยู่ในที่ใดจำเลยไม่ทราบนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่า ก่อนทำสัญญากับโจทก์ จำเลยกับนายบุญชัยซึ่งเป็นทนายความเคยไปสอบถามที่สำนักงานที่ดินกิ่งอำเภอบ้านฉาง และยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยอีกว่า นายดาเป็นผู้รู้ว่าเจ้ามรดกมีที่ดินอยู่ที่ไหน ในวันที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทกับโจทก์ นายดาเป็นคนพาจำเลยไป ดังนี้ น่าเชื่อว่านายดาได้บอกจำเลยแล้วว่าที่พิพาทอยู่ที่ใด ดังนั้นที่จำเลยว่าที่พิพาทอยู่ที่ไหนจำเลยไม่ทราบ จึงฟังไม่ขึ้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 129 บัญญัติไว้ว่า การวินิจฉัยคดีกลฉ้อฉล ท่านให้พิเคราะห์ถึงเพศ อายุ ฐานะ อนามัย และนิสัยใจคอของเจ้าทุกข์ตลอดถึงพฤติการณ์อื่นทั้งปวงอันอาจจะเป็นนำ้หนักแก่การนั้นด้วย ได้ความว่าก่อนที่จำเลยจะทำสัญญากับโจทก์จำเลยเป็นพระภิกษุแม้จะอยู่ในวัยชรา แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีสติปัญญาและนิสัยใจคอผิดแผกไปจากวิญญูชนทั่วไป เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมก็ได้ความว่า จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกตลอดมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสึกจากสมณเพศ และยังได้ความว่าไม่เพียงแต่จำเลยจะทำสัญญาจะขายที่พิพาทกับโจทก์เท่านั้น หากแต่จำเลยยังได้ทำสัญญาจะขายที่ดินแปลงอื่นอันเป็นทรัพย์มรดกกับบุคคลอื่นอีกหลายรายอีกด้วยจดังนี้ จำเลยจะอ้างว่าทำสัญญาเพราะถูกโจทก์ฉ้อฉลหาได้ไม่ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือดียิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยคดีฟังได้ว่า จำเลยสมัครใจทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทกับโจทก์ แต่ที่ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาเชื่อว่าเพราะเห็นว่าราคาที่พิพาทถูกไปจึงเกิดความเสียดายขึ้นในภายหลังมากกว่า สัญญาจะซื้อขายที่พิพาทที่จำเลยทำกับโจทก์จึงสมบูรณ์ มีผลบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก.) ที่พิพาทได้เปลี่ยนจากชื่อเจ้ามรดกเป็นชื่อนางไพเราะกนะกาศัย กับนายดา วังอ่อน ผู้จัดการมรดก สภาพแห่งหนี้ยังจะเปิดช่องให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่าทั้งนางไพเราะและนายดาต่างเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ จึงมีชื่ออยู่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะครอบครองแทนทายาท เมื่อจำเลยเป็นทายาทของเจ้ามรดกที่พิพาทจึงตกได้แก่จำเลย เมื่อจำเลยทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้ แม้จะมีชื่อนางไพเราะและนายดาอยู่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก็ตาม เพราะการที่มีชื่อผู้อื่นในหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินแทนเจ้าของ เป็นเรื่องในทางปฏิบัติทางทะเบียนเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้โจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนการโอนที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาทำนิติกรรมโอนของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.