คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 230/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 4 ปี ขึ้นไป จำนวน 4 กรรม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบของความผิดดังกล่าว รวมทั้งการกระทำความผิดของจำเลยจะเป็นจำนวนกี่กรรมก็ต้องรับฟังเป็นยุติดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องฟังพยานโจทก์ที่ต้องนำสืบประกอบคำรับสารภาพในความผิดฐานดังกล่าวก่อนแต่อย่างใด
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 8 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2544 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำชำเราเด็กหญิง ร. อายุ 13 ปีเศษ และมิใช่ภริยาของจำเลยโดยเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม ต่อมาประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2544 วันใดไม่ปรากฏชัดเวลากลางวัน จำเลยได้กระทำชำเราเด็กหญิง ร. ซึ่งมีอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย โดยเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม ครั้นเดือนกันยายน 2544 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้กระทำชำเราเด็กหญิง ร. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย โดยเด็กหญิงนั้นยินยอม และเมื่อระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม 2544 เวลากลางวันถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยโดยปราศจากเหตุสมควรได้บังอาจพรากเด็กหญิง ร. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจาก ป. และ บ. บิดามารดา เพื่อการอนาจาร นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม 2544 เวลากลางวันถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้กระทำชำเราเด็กหญิง ร. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยหลายครั้งโดยเด็กหญิงนั้นยินยอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317 วรรคสาม
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี จำนวน 4 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 8 ปี รวมจำคุก 28 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 14 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายสำหรับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ว่า ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบประกอบคำรับสารภาพให้ฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 4 ปี ขึ้นไป จำนวน 4 กรรม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบของความผิดดังกล่าว รวมทั้งการกระทำความผิดของจำเลยจะเป็นจำนวนกี่กรรมก็ต้องรับฟังเป็นยุติดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องฟังพยานโจทก์ที่ต้องนำสืบประกอบคำรับสารภาพในความผิดฐานดังกล่าวก่อนแต่อย่างใด ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี จำนวน 4 กระทงจึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารในสถานเบาที่สุดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 8 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยข้อนี้มานั้น เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share