แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีแรกประการหนึ่ง คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลังประการที่สอง ประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้วประการที่สาม จะขาดหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งไม่ได้เลยแม้คู่ความคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ทั้งประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน และคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ถึงที่สุด โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องเนื่องจากฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ของศาลชั้นต้นเป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 1710/2539 ของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของ ย. หรือไม่ เพียงใดฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหรือไม่นั้น ฟ้องโจทก์ทั้งสี่คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540
ก. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ก. เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายก่อน ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นทายาทของ ย. ส่วนโจทก์ที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นทายาทของ ย. เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ย. ส. จึงเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท มีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของ ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของ ย. ทุกคน แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ย. ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ย. ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลงที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นทุกคน และเมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ส. ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมดโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้กำจัดมิให้จำเลยรับทรัพย์มรดกในส่วนของตนที่จะได้รับและให้กลับคืนสู่สภาพเป็นทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันแก่โจทก์ทั้งสี่ต่อไป และขอถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 14242 ตำบลท่าทราย (บางธรณี) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวซึ่งได้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2535 ให้กลับสู่สภาพทรัพย์มรดกของนายยิ้มผู้ตาย เพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคน โดยให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนดังกล่าว หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องในส่วนที่โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านจำนวน 3 หลัง ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า นายยิ้ม และนางนองสิน เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกันจำนวน 4 คน คือนายโกสินทร์ โจทก์ที่ 4 จำเลยและเด็กหญิงศิริมา ซึ่งเสียชีวิตไปตั้งแต่วัยเยาว์ นายโกสินทร์และนางพเยาว์เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตร 3 คน คือ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2526 นายโกสินทร์ถึงแก่ความตาย ตามสำเนามรณบัตรเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 นายยิ้มถึงแก่ความตายตามสำเนามรณบัตรเอกสารหมาย จ.5 ขณะที่นายยิ้มถึงแก่ความตายมีทรัพย์มรดกคือ ที่ดินโฉนดเลขที่14242 เลขที่ดิน 483 ตำบลท่าทราย (บางธรณี) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี จำนวนเนื้อที่ 1 ไร่ 6 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งคือที่ดินพิพาทคดีนี้ โดยได้มาระหว่างสมรสเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2499 มีชื่อนายยิ้มถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ที่ดินดังกล่าวมีสิ่งปลูกสร้างคือ บ้าน 3 หลัง โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และนางพเยาว์อยู่อาศัยในบ้าน 1 หลัง ที่นายโกสินทร์เป็นผู้ปลูกตั้งแต่นายโกสินทร์ยังมีชีวิต หลังจากนายยิ้มถึงแก่ความตาย นางนองสินได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายยิ้มเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2535 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งนางนองสินเป็นผู้จัดการมรดกของนายยิ้มเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2535 ตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 441/2535 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2535 นางนองสินจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของนางนองสินในฐานะผู้จัดการมรดกและโอนให้จำเลยในฐานะผู้รับมรดกแต่ผู้เดียว วันที่ 25 กันยายน 2538 จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้นางพเยาว์และบริวารออกจากบ้าน ตามสำเนาหนังสือบอกกล่าวเอกสารหมาย จ.12 วันที่ 9 ตุลาคม 2538 โจทก์ทั้งสี่ได้มอบอำนาจให้ทนายความโต้แย้งหนังสือบอกกล่าวไปยังทนายจำเลยว่า นางนองสินจัดการมรดกของนายยิ้มไม่ถูกต้องตามสำเนาหนังสือโต้แย้งเอกสารหมาย จ.14 วันที่ 25 ตุลาคม 2538 ทนายความจำเลยมีหนังสือโต้ตอบถึงทนายความโจทก์ทั้งสี่ตามสำเนาหนังสือโต้ตอบเอกสารหมาย จ.15 วันที่ 21 ธันวาคม 2538 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงฟ้องนางนองสินและจำเลยว่าร่วมกันยักยอกที่ดินพิพาท ต่อมาได้ถอนฟ้องนางนองสิน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ต่อมาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า จำเลยที่ 2 ครอบครองทรัพย์มรดกอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ตามสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 1940 /2538 หมายเลขแดงที่ 699/2540 ของศาลชั้นต้น วันที่ 1 สิงหาคม 2539 โจทก์ทั้งสี่ฟ้องนางนองสินและจำเลยขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินมรดกทั้งให้กำจัดนางนองสินและจำเลยมิให้ได้มรดก ให้นางนองสินผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งมรดกให้โจทก์ทั้งสี่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ในส่วนที่ขอให้กำจัดนางนองสินมิให้ได้มรดกเป็นคดีอุทลุม ไม่รับฟ้องในส่วนนี้ ในส่วนคำฟ้องอื่นให้โจทก์ทั้งสี่ทำคำฟ้องฉบับใหม่มายื่นภายใน 10 วัน แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่ดำเนินการภายในกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องส่วนที่ไม่เป็นอุทลุม วันที่ 12 กันยายน 2539 นางนองสินและจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า นางนองสินและจำเลยยังไม่ใช่คู่ความในคดี ไม่มีสิทธิอุทธรณ์จึงไม่รับอุทธรณ์ วันที่ 27 กันยายน 2539 นางนองสินและจำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ วันที่ 8 เมษายน 2540 นางนองสินและจำเลยฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา นางนองสินและจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องตามสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 2018/2539 หมายเลขคดีแดงที่ 1710/2539 ของศาลชั้นต้น หลังจากศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ของนางนองสินและจำเลยตามคดีหมายเลขแดงที่ 1710/2539 แล้ว เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2539 โจทก์ทั้งสี่ได้ยื่นฟ้องนางนองสินและจำเลยเป็นคดีใหม่ทำนองเดียวกับคดีดังกล่าวข้างต้นยกเว้นเรื่องกำจัดนางนองสินมิให้ได้รับมรดก จำเลยให้การต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีที่ฟ้องใหม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 20 18/2539 หมายเลขแดงที่ 1710/2539 ของศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน คดีถึงที่สุดโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาตามสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 2682/2539 หมายเลขแดงที่ 1442/2540 ของศาลชั้นต้นโจทก์ทั้งสี่จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ยังคงอยู่อาศัยในบ้านที่นายโกสินทร์ปลูกในที่ดินพิพาทคดีนี้ สำหรับบ้าน 3 หลัง ที่ปลูกในที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โจทก์ทั้งสี่ไม่ฎีกาจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 สำหรับปัญหาที่ว่า จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกหรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นการปิดบังทรัพย์มรดกจำเลยจึงไม่ถูกกำจัดมิให้ได้มรดก โจทก์ทั้งสี่ไม่อุทธรณ์จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยได้ตั้งประเด็นไว้ในคำให้การและศาลชั้นต้นได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในข้อ 1 แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มิได้วินิจฉัยเช่นกันย่อมเป็นการไม่ชอบ แต่เนื่องจากได้มีการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เห็นว่า นายยิ้มและนางนองสิน เป็นสามีภริยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 จึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 4 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสี่ถามติงว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส นอกจากนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ในคดีแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 1710/2539 และคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ของศาลชั้นต้นก็บรรยายฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ทั้งปรากฏว่าที่ดินพิพาทได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสี่คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีแรกประการหนึ่ง คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลัง ประการที่สองประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้ว ประการที่สาม จะขาดหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งไม่ได้เลยแม้คู่ความคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ทั้งประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน (ยกเว้นเฉพาะเรื่องฟ้องซ้อนและฟ้องซ้ำ) และคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ถึงที่สุด โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง เนื่องจากฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ของศาลชั้นต้น เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 1710/2539 ของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายยิ้มหรือไม่ เพียงใด ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหรือไม่ ดังนั้น ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สามว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความมรดกหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายโกสินทร์ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายยิ้ม ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมของนายยิ้มตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (1) โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโกสินทร์ จึงเป็นผู้สืบสันดานของนายโกสินทร์ เมื่อนายโกสินทร์ถึงแก่ความตายก่อนนายยิ้ม ครั้นต่อมานายยิ้มถึงแก่ความตาย โดยมีทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทอันเป็นสินสมรสระหว่างนายยิ้มและนางนองสินอันจะตกแก่ทายาทโดยธรรมเนื่องจากนายยิ้มไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ดังนี้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่นายโกสินทร์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นทายาทของนายยิ้ม ส่วนโจทก์ที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นทายาทของนายยิ้มเช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งนางนองสินเป็นผู้จัดการมรดกของนายยิ้ม เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2535 นางนองสินจึงเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท มีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของนายยิ้มไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 และถือได้ว่า นางนองสินครอบครอบทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของนายยิ้มทุกคน แม้ต่อมานางนองสินในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์ทั้งสี่และจำเลยต่างนำสืบรับกันว่า เป็นทรัพย์มรดกของนายยิ้มให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนายยิ้ม เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2535 ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและการจัดการมรดกที่ไม่ชอบนั้นย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลง ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนายยิ้มและยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นทุกคน และเมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนางนองสิน ก็ต้องถือว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงไม่ขาดอายุความมรดก อนึ่ง ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายยิ้มและนางนองสิน ได้มาเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2499 โดยนายยิ้มและนางนองสินอยู่กินกันฉันสามีภริยาและแต่งงานกันในขณะกฎหมายลักษณะผัวเมียใช้บังคับ (โดยมิได้จดทะเบียนสมรสภายหลัง) จึงต้องแบ่งสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย โดยนายยิ้มได้ส่วนแบ่ง 2 ใน 3 ส่วน ส่วนนางนองสินได้ 1 ใน 3 ส่วน สินสมรสส่วนของนายยิ้มตกเป็นกองมรดกของนายยิ้มที่จะตกแก่ทายาทโดยธรรมคือนางนองสิน นายโกสินทร์ โจทก์ที่ 4 และจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629, 1630 ,1634 และ 1635 (1) คนละ 1 ใน 4 ส่วนของมรดกหรือ 1 ใน 6 ส่วนของที่ดินพิพาท แต่เมื่อนายโกสินทร์ถึงแก่ความตายก่อนนายยิ้มเจ้ามรดก โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้สืบสันดานของนายโกสินทร์จึงเข้ารับมรดกแทนที่นายโกสินทร์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงได้รับส่วนแบ่งมรดกคนละ 1 ใน 18 ส่วนของที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1634 (2) โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น แต่เพื่อความสะดวกในการแบ่งปันที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามส่วน ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแทนการให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสี่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 18 ส่วน และให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 4 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท 1 ใน 6 ส่วน หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขอของโจทก์ทั้งสี่นอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแก่โจทก์ทั้งสี่เท่าที่ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีการะหว่างโจทก์ทั้งสี่ และจำเลยให้เป็นพับ