คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2298/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง 2 ประการ คือ สั่งไม่อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย ในกรณีสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์หากจำเลยไม่เห็นด้วยต้องทำเป็นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223,229ซึ่งมาตรา 235 บัญญัติบังคับให้ต้องส่งสำเนาอุทธรณ์แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ส่วนในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์หากจำเลยไม่เห็นด้วยต้องทำเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา 234 คดีนี้จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นทั้งสองประการ และโต้แย้งคำสั่งทั้งสองประการรวมกันมาโดยทำเป็นอุทธรณ์ ไม่ได้แยกทำเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ขึ้นต่างหาก ดังนี้ ในกรณีจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยต้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์ภายใน 7 วัน ตามคำสั่งศาลชั้นต้น แต่จำเลยไม่ได้ชำระเงินค่าส่งภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็ต้องถือว่าจำเลยทิ้งอุทธรณ์ตามที่ศาลชั้นต้นสั่งไว้ซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าจำเลยไม่ติดใจให้ศาลมีคำสั่งเมื่ออุทธรณ์คำสั่งขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของจำเลยตกไป ดังนั้น ในส่วนที่เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ จึงไม่เป็นสาระ แก่คดีที่จำเลยจะขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย เพราะพ้นกำหนดเสียแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 79 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 14828โดยอ้างว่าจำเลยขายฝากบ้านและที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองแล้วขาดการไถ่ถอนและไม่ยอมออกไปจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากบ้านและที่ดินพิพาท โดยพิพากษาเมื่อวันที่21 ธันวาคม 2538 จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 22 มกราคม 2539ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป 10 วันศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 10 วัน นับแต่วันครบกำหนดอุทธรณ์ (22 มกราคม 2539) ครั้นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539จำเลยยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2539 ทนายจำเลยมอบให้ผู้แทนนำอุทธรณ์ไปยื่นต่อศาลชั้นต้น แต่ผู้แทนเป็นโรคเบาหวานและป่วยหนักระหว่างเดินทางไม่สามารถไปยื่นอุทธรณ์ได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 2 ออกไปอีก 3 วันศาลชั้นต้นสั่งไต่สวนต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยถือว่ายื่นภายใน 3 วัน ตามที่ขอขยายเพราะวันสุดท้ายคือวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นวันอาทิตย์ศาลชั้นต้นสั่งให้รอไว้ไต่สวนคำร้องเสียก่อนแล้วจึงจะสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ ต่อมาศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วไม่เชื่อว่าผู้แทนทนายจำเลยจะเกิดอาการป่วยหนักระหว่างเดินทางจนไม่สามารถไปยื่นอุทธรณ์ได้ทัน จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของจำเลยฉบับยื่นครั้งที่ 2 ลงวันที่1 กุมภาพันธ์ 2539 และมีคำสั่งว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดจึงไม่รับอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดและไม่รับคำร้องขอทุเลาการบังคับ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง โดยมอบฉันทะให้นางอารีย์ ยอดดำเนินนำอุทธรณ์ไปยื่นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2539 นางอารีย์ลงชื่อไว้ข้างอุทธรณ์ว่าจะไปรับทราบคำสั่งศาลในวันที่ 10 ตุลาคม 2539ถ้าไม่ไปให้ถือว่าทราบคำสั่งศาลแล้วศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2539 ว่ารับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยสำเนาให้โจทก์ ให้จำเลยนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน 7 วันมิฉะนั้น ถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ดังนี้ ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้ว ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอศาลว่าจำเลยไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์จนพ้นกำหนดแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งไปให้ศาลอุทธรณ์สั่ง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า จำเลยไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์(ที่ถูกต้องทำเป็นคำร้อง) ให้อีกฝ่ายภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดถือว่าจำเลยไม่ติดใจให้ศาลสั่งคำร้อง ให้ยกคำร้อง จำเลยเสียค่าคำร้องมา 200 บาท จึงคืนค่าคำร้องที่เสียเกินมา 160 บาทแก่จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่า จำเลยต้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์หรือไม่ ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่ง 2 ประการ คือ สั่งไม่อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และอีกประการหนึ่งสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย ในกรณีสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ หากจำเลยไม่เห็นด้วยต้องทำเป็นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223, 229 ซึ่งมาตรา 235 บัญญัติบังคับให้ต้องส่งสำเนาอุทธรณ์แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ส่วนในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ หากจำเลยไม่เห็นด้วยต้องทำเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ ซึ่งเป็นวิธีดำเนินกระบวนพิจารณาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 คดีนี้จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นทั้งสองประการและโต้แย้งคำสั่งทั้งสองประการรวมกันมาโดยทำเป็นอุทธรณ์ไม่ได้แยกทำเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ขึ้นต่างหาก ดังนี้ ในกรณีจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยต้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์ภายใน 7 วัน ตามคำสั่งศาลชั้นต้น ซึ่งสั่งตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ได้ความจากรายงานของเจ้าหน้าที่ศาลว่าจำเลยไม่นำส่ง ที่จำเลยฎีกาในข้อ (2)ก. วรรคสอง ว่า จำเลยยื่นคำแถลงลงวันที่ 23 กันยายน 2537 ขอนำส่งโดยซื้อตั๋วแลกเงิน200 บาท เป็นค่าส่งนั้นไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานดังกล่าวในสำนวนโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2538 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยจะยื่นคำแถลงตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งเป็นเวลาก่อนฟ้อง ทั้งไม่มีคำแถลงใด ๆ ที่มีข้อความในคำแถลงเป็นอย่างเดียวกับที่จำเลยกล่าวอ้าง แต่ระบุปีผิดพลาด เป็นที่แน่ชัดว่าจำเลยไม่ได้ชำระเงินค่าส่ง เมื่อจำเลยมิได้นำส่งคือไม่ชำระเงินค่าส่งภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็ต้องถือว่าจำเลยทิ้งอุทธรณ์ตามที่ศาลชั้นต้นสั่งไว้ซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า จำเลยไม่ติดใจให้ศาลมีคำสั่งเมื่ออุทธรณ์คำสั่งขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของจำเลยตกไปเช่นนี้แล้ว ก็เป็นที่แน่ชัดว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดดังนั้น ในส่วนที่เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ก็เห็นได้ว่าไม่เป็นสาระแก่คดีที่จำเลยจะขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย เพราะพ้นกำหนดเสียแล้วที่ศาลอุทธรณ์ ไม่สั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
พิพากษายืน

Share