คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8471/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีเดิมศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องอายุความ แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง บัญญัติว่า การฟ้องเพิกถอนนิติกรรมตามมาตรา 1476 ที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งทำไปฝ่ายเดียว โดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีเดิมอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ครั้นศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องคดีเดิมโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมให้คู่ความฟังวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาศาลฎีกาคดีเดิมถึงที่สุด จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทเฉพาะมาใช้บังคับแก่อายุความ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่นายจำเนียรนำเงินอันเป็นสินสมรสไปซื้อที่ดินให้จำเลยตามที่ดินสิทธิครอบครอง ภบท. 5 เลขสำรวจที่ 245/45 – 48 ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่ดินโฉนดเลขที่ 15921 และ 37163 ตำบลขุนแก้ว(ท้ายคุ้ง) อำเภอนครชัยศรี (เมือง) จังหวัดนครปฐม พร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับส่งมอบหลักฐานแสดงการครอบครองและโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ กับให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินทั้งสามแปลง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย หากไม่สามารถโอนสิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์คืนโจทก์ได้ ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,000,000 บาท และ 13,500,000 บาท หรือใช้ราคาตามราคาซื้อขายที่ดินทั้งสามแปลงในวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ชำระค่าเช่าจำนวน 800,000 บาท และค่าขาดประโยชน์จำนวน 1,331,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ชำระค่าขาดประโยชน์ในอัตราเดือนละ 10,000 บาท ของที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง และเดือนละ 100,000 บาท ของที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์จนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมที่นายจำเนียร นำเงินไปซื้อที่ดินให้จำเลยตามที่ดินสิทธิครอบครองตาม ภบท. 5 เลขสำรวจที่ 245/45 – 48 ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี กับปลูกสร้างบ้านพักบนที่ดินดังกล่าว ที่ดินโฉนดเลขที่ 15921 และ 37163 ตำบลขุนแก้ว (ท้ายคุ้ง) อำเภอนครชัยศรี (เมือง) จังหวัดนครปฐม กับปลูกสร้างโกดังเก็บสินค้า ให้จำเลยโอนสิทธิครอบครองกับหลักฐานการครอบครองที่ดินตาม ภบท. 5 เลขสำรวจที่ 245/45 – 48 ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ และขนย้ายทรัพย์สินกับบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย หากไม่สามารถโอนสิทธิครอบครองให้ได้ให้ชดใช้เงิน 2,000,000 บาท แก่โจทก์แทน ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินกับส่งมอบหลักฐานโฉนดเลขที่ 15921 และ 37163 ตำบลขุนแก้ว (ท้ายคุ้ง) อำเภอนครชัยศรี (เมือง) จังหวัดนครปฐม พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ และขนย้ายทรัพย์สินกับบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว หากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้ได้ให้ชดใช้เงิน 13,500,000 บาท แก่โจทก์แทน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่ความตาย นายอุกฤษฎ์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้จัดการมรดกของนายจำเนียร โจทก์เคยฟ้องจำเลยว่าถือสิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแทนนายจำเนียร ขอให้จำเลยคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่โจทก์ ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 7283/2556 ว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2541 และวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542 นายจำเนียรมอบเงินให้จำเลยไปซื้อที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยเอง จำเลยมิได้ครอบครองหรือถือกรรมสิทธิ์แทนนายจำเนียร ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่หากโจทก์เห็นว่านายจำเนียรนำเงินอันเป็นสินสมรสไปซื้อที่ดินพิพาทให้จำเลยก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ต่อไปว่านายจำเนียรเพียงฝ่ายเดียวนำเงินอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายจำเนียรให้จำเลยไปซื้อที่ดินพิพาทและปลูกสร้างบ้านพักกับโรงงานบนที่ดินดังกล่าว แล้วมีชื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองและถือกรรมสิทธิ์ โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีเดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องอายุความ แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง บัญญัติว่า การฟ้องเพิกถอนนิติกรรมตามมาตรา 1476 ที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งทำไปฝ่ายเดียว โดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น จำเลยอ้างว่าโจทก์รู้เหตุอันเป็นมูลแห่งการเพิกถอนวันที่ 15 กรกฎาคม 2545 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีเดิม ส่วนคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ อย่างไรก็ดี เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีเดิมอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (2) ครั้นศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องคดีเดิมโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุดศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีเดิมให้คู่ความฟังวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาศาลฎีกาคดีเดิมถึงที่สุด กรณีคดีเดิมศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทเฉพาะมาใช้บังคับแก่อายุความ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share