คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2298/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือแจ้งการลงโทษมีข้อความว่า “ในวันที่ 16 มกราคม 2532 โจทก์ได้กระทำความผิดคือได้ขาดงานโดยพลการ มิได้บอกกล่าวแต่อย่างใด และทางบริษัทได้เคยตักเตือนไว้ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2531 บริษัทได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรให้ลงโทษโจทก์ด้วยการพักงานเป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 17-23 มกราคม 2532 เพื่อมิให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกจ้างอื่นต่อไป หากกระทำผิดซ้ำอีกบริษัทจะพิจารณาลงโทษในสถานหนัก” ข้อความที่ว่า “หากกระทำผิดซ้ำ อีกบริษัทจะพิจารณาลงโทษในสถานหนัก” นั้น มีผลเป็นคำตักเตือนอยู่ด้วยในตัว
ครั้งแรกโจทก์ขาดงานเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2531 จำเลยได้ออกหนังสือตักเตือนโจทก์ ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2532 โจทก์ขาดงานอีกจำเลยมีหนังสือแจ้งการลงโทษถึงโจทก์ให้ลงโทษโจทก์ด้วยการพักงานเป็นเวลา 7 วัน และระบุด้วยว่าหากกระทำผิดซ้ำอีก บริษัทจะพิจารณาลงโทษในสถานหนัก ซึ่งมีผลเป็นคำตักเตือนอยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อโจทก์ขาดงานอีกในวันที่ 3 พฤษภาคม 2532 ซึ่ง ระยะเวลามิได้ล่วงพ้นจากการขาดงานครั้งที่สองมากนัก กรณีถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยได้กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์โดยฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย ค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมเงินเพิ่ม และคืนเงินประกัน
จำเลยให้การต่อสู้คดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันและจ่ายค่าจ้างที่ค้างพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง กับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนอันจำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาเป็นยุติว่า จำเลยได้ออกหนังสือตักเตือนโจทก์เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๑ เนื่องจากโจทก์ขาดงานในวันที่ ๕ เดือนเดียวกัน ตามเอกสารหมาย ล.๕ จำเลยได้ลงโทษโจทก์ด้วยการพักงานมมีกำหนด ๗ วัน ตามหนังสือแจ้งการลงโทษลงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๓๒ เนื่องจากโจทก์ขาดงานเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๒ ตามเอกสารหมาย ล.๗ จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๓๒ เนื่องจากโจทก์ขาดงานเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๒ ตามเอกสารหมาย ล.๑๐ และการที่โจทก์ขาดงานเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย ข้อ ๑๐.๒ ตามเอกสารหมาย ล.๑๑ เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ล.๗ มีข้อความระบุว่า “ในวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๒ นางสาวรัตนาภรณ์ โต๊ะเงิน ได้กระทำความผิดคือได้ขาดงานโดยพลการ มิได้บอกกล่าวแต่อย่างใด และทางบริษัท ฯ ได้เคยตักเตือนไว้ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๑ บริษัทได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรให้ลงโทษนางสาวรัตนาภรณ์ โต๊ะเงิน ด้วยการพักงานเป็นเวลา ๗ วัน ตั้งแต่วันที่ ๑๗-๒๓ มกราคม ๒๕๓๒ เพื่อมิให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกจ้างอื่นต่อไป หากกระทำผิดซ้ำอีกบริษัทจะพิจารณาลงโทษในสถานหนัก ข้อความในหนังสือแจ้งการลงโทษดังกล่าวที่ว่า “หากกระทำผิดซ้ำอีก บริษัทจะพิจารณาลงโทษในสถานหนัก” นั้น มีผลเป็นคำตักเตือนอยู่ด้วยในตัวในเมื่อโจทก์ขาดงานอีกในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๒ ซึ่งระยะเวลามิได้ล่วงพ้นจากการขาดงานครั้งที่สองมากนักเช่นนี้ กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๓)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคำขอเรื่องค่าชดเชยด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share