แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.อ. มาตรา 221 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาดังเช่นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ แม้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจะตรวจสำนวนหลังมีคำพิพากษา หรือระหว่างการพิจารณาคดี หรือสั่งคำร้องขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา แต่ก็เป็นการสั่งคำร้องที่ยื่นต่อตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ตรวจสำนวนเพื่อระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีต่าง ๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (2) ถึง (4) เมื่อคดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมิได้พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น จึงไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90, 91, 157, 200 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ยื่นฎีกาพร้อมคำร้องว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีนี้ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นคดีอาญาฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โจทก์จึงขอให้ผู้พิพากษาคนใหม่มาทำหน้าที่แทนและขอให้ลงลายมือชื่อรับรองฎีกาโจทก์ หากผู้พิพากษาคนใหม่เห็นว่าคดีนี้ต้องให้ผู้พิพากษาคนก่อนที่เคยตัดสินคดีรับรองขอให้ส่งคำร้องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นพิจารณา
อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้พิพากษาผู้มีสิทธิอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงคือ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เมื่อตามคำร้องโจทก์ไม่ประสงค์ขอให้ผู้พิพากษาดังกล่าวรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงให้ยกคำร้อง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งฎีกาของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 จึงไม่รับฎีกาของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 บัญญัติว่า “ในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา 218, 219 และ 220 แห่งประมวลกฎหมายนี้ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป” บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้ดังเช่นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ แม้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจะตรวจสำนวนหลังมีคำพิพากษาหรือระหว่างการพิจารณาคดีหรือสั่งคำร้องขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นการสั่งคำร้องที่ยื่นต่อตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ตรวจสำนวนเพื่อระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายหรือโดยประการอื่นให้เป็นไปโดยถูกต้องเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปโดยเร็ว และให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นในข้อขัดข้องเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา อันเป็นอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (2) ถึง (4) เพื่อให้งานราชการศาลเป็นไปโดยเรียบร้อยเท่านั้น เมื่อคดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมิได้พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น จึงไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน