คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5278/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะโจทก์ที่ 1 เสนอคำฟ้องต่อศาล โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองผู้กระทำละเมิด แม้ภายหลังฟ้องคดีแล้วโจทก์ที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทยกให้โจทก์ที่ 2 อำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1ที่บริบูรณ์อยู่แล้วยังคงมีผลอยู่ต่อไป ส่วนโจทก์ที่ 2 ผู้รับโอนเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ตามป.วิ.พ. มาตรา 57(2).

ย่อยาว

โจทก์ที่ ๑ ฟ้องว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๕ จำเลยทั้งสองสร้างรั้วโดยปักเสาปูนซิเมนต์และกั้นด้วยลวดหนามรุกล้ำที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกตลอดแนวเป็นเนื้อที่ ๕.๘ ตารางวา โจทก์บอกกล่าวแล้วขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า สร้างรั้วลงในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๔ของจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นางเผดิมสุข ศรีวิลาศ ร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม โดยอ้างว่าได้รับโอนที่ดินโฉนดเลที่ ๓๒๕ จากโจทก์ที่ ๑ ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้เรียกนางเผดิมสุขว่าโจทก์ที่ ๒
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อรั้วที่สร้างรุกล้ำออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๕ ของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองรื้อรั้วที่สร้างรุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๕ ของโจทก์ที่ ๒
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ขณะที่โจทก์ที่ ๑ เสนอคำฟ้องต่อศาล โจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๕ตำบลบางยี่ขัน อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.๑ โจทก์ที่ ๑ จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ ๑ ได้ แม้ว่าภายหลังฟ้องคดีแล้วโจทก์ที่ ๑จดทะเบียนยกให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวของโจทก์ที่ ๑ ให้แก่โจทก์ที่ ๒ อำนาจฟ้องของโจทก์ที่ ๑ ที่บริบูรณ์อยู่แล้วยังคงมีผลอยู่ต่อไป ส่วนโจทก์ที่ ๒ ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากโจทก์ที่ ๑เป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗(๒) ดังนั้น โจทก์ที่ ๑ยังคงมีอำนาจฟ้องต่อไป และศาลอนุญาตให้โจทก์ที่ ๒ เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้
พิพากษายืน.

Share