คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2293/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 50,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 4 ใช้ค่าเสียหายจำนวน 37,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 แล้วพิพากษาแก้เป็นว่าไม่บังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังนี้ คดีต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง
ฎีกาว่าศาลชั้นต้นสั่งตัดพยานจำเลยที่ขอส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่นทำให้จำเลยเสียเปรียบไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้เต็มภาคภูมิ และศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายสูงเกินไป เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการส่งประเด็นและการกำหนดค่าเสียหาย จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกนายสงครามเป็นโจทก์ที่ 1 บริษัทประกันภัยไทยวิวัฒน์จำกัด เป็นโจทก์ที่ 2 และเรียกนายแก้ว นายสมจิต นายวุฒิไกรและบริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ตามลำดับ
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างโดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 เสียหายรวม 68,700บาท โจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1ได้จ่ายค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 37,000 บาทจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 68,700 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 39,300 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของคนขับรถโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งสองไม่ได้เสียหายมากดังฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างผู้ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย โจทก์ต้องเสียค่าซ่อมเป็นเงิน 23,000 บาท จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับจึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 23,000บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่าผู้ที่ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เป็นฝ่ายที่ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของจำเลยที่ 3 เสียหาย จำเลยที่ 1และที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ โจทก์ไม่เสียหายมากดังฟ้องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้เงินจำนวน 56,200บาทและดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ใช้เงินจำนวน 37,000 บาท และดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 2 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 แล้ว พิพากษาแก้เป็นว่าไม่บังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสองสำนวนนี้สำนวนแรกโจทก์ที่ 2ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 39,300 บาทแก่โจทก์ที่ 2 สำนวนหลังจำเลยที่ 4 ฟ้องขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 24,715 บาทแก่จำเลยที่ 4 จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 50,000 บาท เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ใช้ค่าเสียหายจำนวน37,000 บาทแก่โจทก์ที่ 2 และยกฟ้องของจำเลยที่ 4 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 แล้ว จึงพิพากษาแก้เป็นว่าไม่บังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าศาลชั้นต้นสั่งตัดพยานจำเลยที่ 4 ที่ขอส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่น ทำให้จำเลยเสียเปรียบไม่มีโอกาสสู้คดีได้เต็มภาคภูมิและศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายสูงเกินไปนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการส่งประเด็นและการกำหนดค่าเสียหายจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 4.

Share