คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2291/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่นายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตาม มาตรา17 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของ ถ. อันเป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทซึ่งมีชื่อภริยาของ ถ. ทางทะเบียนถูกอายัดไปด้วยนั้น เนื่องมาจากคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อนายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 ดังกล่าว มีคำสั่งต่อเนื่องจากคำสั่งเดิม ให้ทรัพย์สินที่ถูกอายัดหรือยึดไว้ตามคำสั่งฉบับแรกตกเป็นของรัฐทันที ในกรณีที่บุคคลใดอ้างว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของตนให้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าผู้ร้องไม่อาจพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจได้ว่าเป็นทรัพย์ที่ตนได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดไม่คืนทรัพย์สินให้ การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด คำสั่งที่ให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการในกรณีไม่คืนทรัพย์เป็นที่สุดนั้น ก็เป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีที่สั่งการไปตามอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการที่วินิจฉัยชี้ขาดไม่คืนรถยนต์พิพาทให้โจทก์ แต่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องว่าคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอย่างไรบ้าง การที่โจทก์อ้างมาในฎีกาว่ารถยนต์เป็นของโจทก์ควรจะคืนให้โจทก์จึงเป็นเรื่องโต้เถียงคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการซึ่งโจทก์มีความเห็นไม่ตรงกับคณะกรรมการเท่านั้น หาใช่คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไม่ เมื่อคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการเป็นไปโดยชอบ คำสั่งจึงเป็นอันยุติเด็ดขาดเพียงนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อรถยนต์เบ็นซ์ กท.ท.9839 จากบริษัทธนบุรีพาณิชย์จำกัด ในราคา 80,000 บาท แต่รถยนต์คันนี้ตามทะเบียนมีชื่อท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เป็นเจ้าของ โจทก์ยื่นคำร้องขอโอนทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของในระหว่างที่เจ้าพนักงานดำเนินการโอนทะเบียนอยู่นั้น ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีสั่งอายัดทรัพย์สินของท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เป็นเหตุให้รถยนต์ดังกล่าวของโจทก์ถูกอายัดไปด้วย โจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี แต่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดไม่คืนให้โจทก์ โจทก์เห็นว่าการวินิจฉัยของคณะกรรมการยังไม่ถูกต้องเพราะตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีให้ยึดแต่ทรัพย์สินของท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร แต่รถยนต์ดังกล่าวเป็นของโจทก์ โจทก์มีสิทธิติดตามเอาคืนจากผู้ยึดครองไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการและให้จำเลยคืนรถแก่โจทก์ ถ้าไม่สามารถคืนได้ก็ขอให้ใช้ราคา 80,000 บาท

จำเลยให้การว่า รถยนต์ตามฟ้องไม่ใช่ของโจทก์ เดิมท่านผู้หญิงจงกลกิตติขจร ภริยาจอมพลถนอม กิตติขจรเป็นเจ้าของได้ครอบครองมาตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2514 ต่อมานายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2515 มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์ของจอมพลถนอม กิตติขจรและภริยา รถยนต์คันดังกล่าวจึงถูกยึด ต่อมานายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 มีคำสั่งให้ทรัพย์สินของจอมพลถนอมกิตติขจรและภริยาบรรดาที่ถูกอายัดหรือยึดทั้งหมดตกเป็นของรัฐทันทีในวันออกคำสั่ง และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์บรรดาที่ตกเป็นของรัฐในนามของรัฐ จำเลยจึงเป็นผู้รับทรัพย์ไว้และเท่ากับถือกรรมสิทธิ์รถยนต์โดยผลของกฎหมาย จำเลยมิใช่ผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์และตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 มาตรา 17 ให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำรวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรี เป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามคำสั่งที่ สลร.39/2517 ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการคืนหรือไม่คืนทรัพย์สินที่ตกเป็นของรัฐ ในเมื่อมีการยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์ และให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการที่ไม่คืนทรัพย์เป็นที่สุด โจทก์ขอคืนรถยนต์แต่ไม่อาจพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจคณะกรรมการว่าเป็นรถยนต์ที่โจทก์ได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ คณะกรรมการจึงวินิจฉัยไม่คืนคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการเป็นที่สุดและชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการ นอกนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 มาตรา 238 บัญญัติรับรองคำสั่งของนายกรัฐมนตรีซึ่งได้สั่งการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ที่ยังใช้บังคับอยู่ให้คงมีผลใช้บังคับต่อไป

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีที่สั่งไม่คืนรถให้โจทก์เป็นที่สุดโจทก์จะนำคดีมาฟ้องร้องเป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2517 มาตรา 17 บัญญัติว่า “ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดินหรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศหรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ไม่ว่าการกระทำจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันประกาศธรรมนูญการปกครองนี้ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นรวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ”

การที่นายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 17มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.40/2516 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2516 ให้อายัดทรัพย์สินของจอมพลถนอม กิตติขจรและภริยา จอมพลประภาส จารุเสถียรและภริยา และพันเอกณรงค์ กิตติขจรและภริยา อันเป็นเหตุให้รถยนต์ยี่ห้อเบอร์ซีเดส เบ็นซ์ คันหมายเลขทะเบียน กท.ท.9839 ซึ่งมีชื่อท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ภริยาจอมพลถนอม กิตติขจร ทางทะเบียนถูกอายัดไปด้วยนั้น จึงเนื่องมาจากคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่นายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.39/2517 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2517 ต่อเนื่องจากคำสั่งเดิม ให้ทรัพย์สินที่ถูกอายัดหรือยึดไว้ตามคำสั่งฉบับแรกทั้งหมดตกเป็นของรัฐทันที ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อปฏิบัติตามคำสั่ง และในกรณีที่บุคคลใดอ้างว่าทรัพย์นั้นเป็นของตนให้ยื่นคำร้องพร้อมด้วยหลักฐานและรายละเอียดต่อคณะกรรมการภายใน 60 วันตามคำสั่งข้อ 1, 4, 6 ซึ่งในเรื่องคืนทรัพย์สินได้กล่าวไว้ในข้อ 7 ว่า ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องไม่อาจพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ตนได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ ให้คณะกรรมการบันทึกการวินิจฉัยชี้ขาดไม่คืนทรัพย์สินให้ปรากฏไว้เป็นหลักฐาน และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบถึงการวินิจฉัยของคณะกรรมการโดยไม่ชักช้า การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุดการที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการในกรณีไม่คืนทรัพย์สินเป็นที่สุดนั้น ย่อมเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีที่สั่งการไปตามอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย โจทก์มิได้กล่าวมาในคำร้องว่า คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอย่างไรบ้าง การที่โจทก์อ้างมาในฎีกาว่ารถยนต์เป็นของโจทก์ควรจะคืนให้โจทก์ จึงเป็นเรื่องโต้เถียงคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ ซึ่งโจทก์มีความเห็นไม่ตรงกันกับคณะกรรมการเท่านั้น หาใช่คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่ประการใดไม่ เมื่อคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการที่ไม่คืนรถให้โจทก์เป็นไปโดยชอบ คำสั่งจึงเป็นอันยุติเด็ดขาดเพียงนั้น ที่โจทก์ฎีกายกเหตุผลต่าง ๆ ขึ้นอ้างว่าคำสั่งคณะกรรมการไม่สิ้นสุดข้ออ้างของโจทก์ปราศจากบทกฎหมายสนับสนุน เพราะไม่มีกฎหมายใดให้ศาลมีคำสั่งรื้อฟื้นแก้ไขคำสั่งของนายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีในกรณีเช่นนี้

พิพากษายืน

Share