แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปล้นเอาธนบัตร 4,000 บาทของเจ้าทรัพย์ไปต่อมาจับจำเลยได้และได้ธนบัตรรวม 1,780 บาทจากจำเลยที่ 2เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษและคืนธนบัตร 1,780 บาทของกลางแก่เจ้าทรัพย์และให้จำเลยคืนหรือใช้ธนบัตรอีก 2,220 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าทรัพย์ด้วย เมื่อเงินของกลาง 1,780 บาทนี้ผู้เสียหายมิได้เป็นเจ้าของ แม้จะเป็นของคนร้ายที่ร่วมปล้นซึ่งต้องใช้คืนผู้เสียหายอยู่แล้วการที่จะพิพากษาให้คืนแก่ผู้เสียหายนั้น ย่อมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 49, 50 และเมื่อเงินของกลางนี้ไม่อาจถือว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนอันผู้เสียหายจะพึงได้รับด้วยการที่ศาลสั่งคืนให้แล้วก็ย่อมไม่ต้องนำไปหักออกจากจำนวนค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์คิดคำนวณมาในฟ้อง จำนวนเงิน 1,780 บาทนี้จึงกลับไปรวมอยู่ในจำนวนค่าเสียหาย 4,000 บาทซึ่งโจทก์ฟ้องว่าผู้เสียหายพึงได้รับค่าสินไหมทดแทน ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 4,000 บาท แก่ผู้เสียหายธนบัตรของกลาง 1,780 บาทให้คืนจำเลยที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก ๔ คนมีอาวุธปืนติดตัว ได้ร่วมกันปล้นธนบัตรรวม ๔,๐๐๐ บาทของนายทวี ทองประชุม และนางทัศนีย์ทองประชุมไป ในการปล้นทรัพย์จำเลยกับพวกได้ใช้กำลังกายและอาวุธปืนทุบตีบังคับขู่เข็ญให้เจ้าทรัพย์และนางสาวฉวี ทองประชุม พวกเจ้าทรัพย์ให้บอกที่ซ่อนทรัพย์ นายทวี ทองประชุม ต่อสู้ขัดขวางโดยใช้มีดดาบฟันและแทงจำเลยที่ ๑ ได้รับบาดเจ็บ จำเลยทั้งสองได้ใช้อาวุธปืนยิงนายทวีทองประชุมหลายนัด แล้วจำเลยที่ ๑ ได้แย่งมีดดาบจากนายทวี ฟันนายทวีและนางทัศนีย์โดยเจตนาฆ่า เพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งธนบัตรรวม ๔,๐๐๐ บาทที่ปล้นทรัพย์ได้ นายทวีได้ถึงแก่ความตาย ส่วนนางทัศนีย์ได้รับบาดเจ็บพนักงานสอบสวนยึดได้มีดดาบ ๑ เล่มของนายทวีเป็นของกลาง ต่อมาจับจำเลยทั้งสองได้และได้ธนบัตรรวม ๑,๗๘๐ บาทจากจำเลยที่ ๒เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐, ๒๘๙,๒๙๕, ๘๓ และคืนมีดดาบและธนบัตรรวม ๑,๗๘๐ บาทของกลางแก่เจ้าทรัพย์และให้คืนหรือใช้ราคาธนบัตร ๒,๒๒๐ บาทที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าทรัพย์
นางทัศนีย์ ทองประชุม เข้าเป็นโจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ ๑ ได้หลบหนี ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ ชั่วคราว ภายหลังที่ได้พิพากษาคดีของจำเลยที่ ๒แล้วจึงจับจำเลยที่ ๑ ได้ ศาลชั้นต้นได้ยกคดีของจำเลยที่ ๑ ขึ้นพิจารณาต่อไป ในชั้นนี้จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐, ๒๘๙, ๒๙๕ แต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๙ ซึ่งเป็นบทหนักให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง แต่คำรับของจำเลยที่ ๒ ชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ ประกอบด้วยมาตรา ๕๒(๑) ให้จำคุกจำเลยที่ ๒ ไว้ตลอดชีวิตคืนมีดของกลางแก่ผู้เสียหาย ส่วนเงินของกลาง ๑,๗๘๐ บาทเป็นของคนร้ายที่ร่วมปล้นซึ่งจะต้องใช้คืนผู้เสียหายอยู่แล้ว ให้คืนแก่ผู้เสียหายให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน ๒,๒๒๐ บาทที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ ให้ ๑ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบด้วยมาตรา ๕๒(๑) ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ตลอดชีวิต
พนักงานอัยการโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษประหารชีวิตแก่จำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยฟังว่า จำเลยที่ ๒ ได้ร่วมกระทำผิดตามฟ้อง และที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ ๑ นั้น เห็นว่ายังไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไข
แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเงินของกลาง ๑,๗๘๐ บาท เป็นของคนร้ายที่ร่วมปล้นซึ่งต้องใช้คืนผู้เสียหายอยู่แล้ว ให้คืนแก่ผู้เสียหายนั้น ไม่ชอบด้วยมาตรา ๔๙ และ ๕๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะเงินของกลางนี้ผู้เสียหายมิได้เป็นเจ้าของ และเมื่อเงินของกลางนี้ไม่อาจถือว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนอันผู้เสียหายจะพึงได้รับด้วยการที่ศาลสั่งคืนให้แล้ว ย่อมไม่ต้องนำไปหักออกจากจำนวนค่าเสียหายทั้งหมด ดังที่ โจทก์คิดคำนวณมาในฟ้องจำนวนเงิน ๑,๗๘๐ บาทนี้จึงกลับไปรวมอยู่ในจำนวนค่าเสียหาย ๔,๐๐๐ บาท ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าผู้เสียหายพึงได้รับค่าสินไหมทดแทน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงิน ๔,๐๐๐บาทแก่ผู้เสียหาย ธนบัตร ๑,๗๘๐ บาทให้คืนจำเลยที่ ๒