คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คู่ความตกลงกันว่า จำเลยยินดีโอนห้องแถวพร้อมกับที่ดิน2 ห้องที่เหลือตามพินัยกรรมดังโจทก์ฟ้องให้โจทก์ ในเมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินไปสำรวจแล้วให้เจ้าพนักงานที่ดินแยกออกมาว่าห้องทั้งสองอยู่ที่ใด ถ้าหากเจ้าพนักงานที่ดินตรวจแล้วว่าที่ดินและห้องแถวตามพินัยกรรมไม่มีอยู่เลย โจทก์ก็ยินดีถอนฟ้องแต่ถ้าปรากฏว่ามีเหลืออยู่เป็นจำนวนมากกว่า 2 ห้อง โจทก์ยอมรับเพียง 2 ห้อง จำเลยยินดีโอนให้โจทก์ การตรวจสอบนี้ให้ถือเอาพินัยกรรมตามฟ้องและตราจองเลขที่ 5 เป็นหลัก ดังนี้เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้ตรวจสอบแล้วได้ความว่าห้องแถวดังกล่าวอยู่ในตราจองเลขที่ 2172 โดยเจ้าพนักงานที่ดินได้ตรวจสอบรูปแผนที่ในพินัยกรรมแล้ว แสดงว่าที่ดินพร้อมด้วยห้องแถวที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามพินัยกรรม คือ ที่ดินตราจองเลขที่ดังกล่าว จำเลยต้องโอนให้โจทก์ตามข้อตกลง และเมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินตรวจพบแล้วก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องตรวจสอบที่ดินมรดกรายนี้ทั้งหมดต่อไปอีก
ข้อตกลงของโจทก์จำเลยเช่นว่านี้ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 และไม่เป็นการที่ศาลพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นตามมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งด้วย
ปัญหาเรื่องข้อตกลงขัดต่อมาตรา 138 หรือไม่ และศาลพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
วันนัดสืบพยานประเด็นโจทก์ จำเลยที่ 2 และทนายจำเลยที่ 2 มิได้ไปศาลตามนัด แต่ศาลได้สืบพยานไปโดยมิได้มีการสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณานั้น เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ฎีกาจำเลยที่ 1 จะฎีกาแทนไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางเชื่อม สุคนธตามร์ (นางรัฐ หิรัณยากร) ได้ทำพินัยกรรมระบุให้โจทก์ได้รับที่ดินตามส่วนในตราจองเลขที่ 5 ตามที่ระบุไว้ในแผนที่แนบติดกับพินัยกรรมที่ดินส่วนที่โจทก์ได้รับมีตึกแถว 7 ห้อง ทั้งระบุว่าเมื่อโจทก์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้อยู่ในความดูแลของจำเลย จำเลยให้คนเช่าและเรียกเงินกินเปล่ารวมเวลา 9 ปี 9 เดือน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,228,500 บาท ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีถึงวันฟ้อง 37,500 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ นอกจากนี้โจทก์ยังได้ร้องขอรับมรดกที่ดินตราจองเลขที่ 5 ใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของอีกด้วย ขอให้ศาลมีคำสั่งว่านิติกรรมการโอนมรดกที่ดินตามตราจองเลขที่ 5 ตกเป็นโมฆะ ให้โอนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของพร้อมตึกแถว 7 ห้อง ถ้าโอนไม่ได้ให้ชำระราคา 1,050,000 บาท กับให้จำเลยใช้ดอกผลและค่าเสียหายตั้งแต่วันเจ้ามรดกตายถึงวันฟ้อง 1,266,000 บาท และใช้ดอกผลของรายได้ที่เก็บได้ต่อไปอีกร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในจำนวนเงิน 1,134,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยส่งเงินค่าเช่าอัตราเดือนละ 10,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะได้ส่งมอบที่ดินและตึกแถวให้โจทก์

จำเลยให้การว่า ที่ดินส่วนได้ของโจทก์ดังกล่าวขณะนี้ไม่มีแล้วเพราะนางเชื่อม สุคนธตามร์ ได้แบ่งแยกจำหน่ายจ่ายโอนไปเสียก่อนถึงแก่กรรมหมดแล้ว ที่ดินส่วนได้ของโจทก์ทั้งหมดและทายาทบางคนทางทิศเหนือนั้นพระรัฐหิรัณยากรและนางเชื่อม สุคนธตามร์ ได้ให้ผู้มีชื่อเช่าในอัตราค่าเช่าปีละ 500 บาท และได้นำไปเสียภาษีบำรุงท้องที่ประมาณปีละ 2,000 บาท โจทก์จึงไม่มีรายได้ตามฟ้อง ที่ดินที่โจทก์ว่าจำเลยได้โอนเป็นของจำเลยนั้น เป็นที่ดินส่วนได้ของจำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินพร้อมทั้งอาคารในที่ดินสองห้องให้โจทก์พร้อมกับชำระเงินกินเปล่าที่ได้รับไว้รวม 72,500 บาท กับค่าเช่าอีกเดือนละ 300 บาท มีกำหนด 2 ปี 8 เดือนแก่โจทก์ ในเงินจำนวนนั้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ร่วมกันใช้ค่าทนาย 3,000 บาทแทนโจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า ก่อนสืบพยานคู่ความตกลงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยยินดีโอนห้องแถวพร้อมกับที่ดิน 2 ห้องที่เหลือตามพินัยกรรมให้โจทก์ แต่จำเลยยังไม่ทราบว่าห้องทั้งสองนี้อยู่ที่ไหน โจทก์แถลงว่า ถ้าเช่นนั้นโจทก์จะนำเจ้าพนักงานที่ดินไปสำรวจที่ดินมรดกรายนี้ทั้งหมด แล้วให้เจ้าพนักงานที่ดินแยกออกมาว่าห้องทั้งสองอยู่ที่ใด ถ้าหากเจ้าพนักงานที่ดินตรวจแล้วอ้างว่าที่ดินและห้องแถวตามพินัยกรรมไม่มีอยู่เลยโจทก์ยินดีถอนฟ้อง ถ้าปรากฏว่ามีเหลืออยู่เป็นจำนวนมากกว่า 2 ห้อง โจทก์ก็ยอมรับเพียง 2 ห้อง จำเลยพอใจตามที่โจทก์แถลง เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินชี้ทรัพย์รายนี้ออกมาได้แล้ว จำเลยยินดีโอนให้โจทก์ การตรวจสอบนี้ให้ถือเอาพินัยกรรมตามฟ้องและตราจองเลขที่ 5 เป็นหลัก

ตามข้อตกลงนี้มีสารสำคัญอยู่ที่ว่าจำเลยที่ 1 ยอมโอนห้องแถวพร้อมที่ดิน 2 ห้องที่เหลือตามพินัยกรรมให้โจทก์ ในเมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินไปสำรวจแล้วให้เจ้าพนักงานที่ดินแยกออกมาว่าห้องทั้งสองนั้นอยู่ที่ใด เมื่อนายสละเจ้าพนักงานที่ดินมาเบิกความเป็นพยานศาลประกอบหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบและชี้ห้องแถวกับที่พิพาทว่าที่ดินห้องแถวที่โจทก์นำชี้ ได้ตรวจสอบแล้วได้ความว่าเป็นตราจองเลขที่ 2172 ปรากฏว่าที่ดินตราจองเลขที่ดังกล่าวอยู่ในระวาง 78 ต 28 อ ตรงตามแผนที่ท้ายพินัยกรรมที่ระบุว่าให้ตกเป็นของโจทก์จริง แสดงว่าโจทก์นำเจ้าหน้าที่ไปสำรวจและเจ้าพนักงานที่ดินได้แยกออกมาได้ว่าที่ดินพร้อมด้วยห้องแถวที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามพินัยกรรมคือที่ดินตราจองเลขที่ดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงต้องโอนให้โจทก์ตามข้อตกลง

ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงเพราะโจทก์ไม่ได้นำสำรวจที่ดินมรดกรายนี้ทั้งหมดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า ความสำคัญของข้อตกลงนี้อยู่ที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าห้องแถวพร้อมที่ดิน 2 ห้อง ที่เหลือตามพินัยกรรมอยู่ที่ใด จึงให้เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบ เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินพบแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องตรวจสอบอีกต่อไป ข้อตกลงของโจทก์จำเลยเช่นว่านั้นไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 และไม่เป็นการที่ศาลพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นตาม มาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพราะที่ดินตราจองเลขที่ 2172 ก็เป็นที่ดินซึ่งแยกมาจากตราจองเลขที่ 5 อันเป็นที่ดินที่โจทก์กล่าวในฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนให้โจทก์นั่นเอง ปัญหาเรื่องข้อตกลงขัดต่อมาตรา 138 หรือไม่ และศาลพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างชั้นฎีกาได้

ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ไม่ชอบ เพราะในวันนัดสืบพยานโจทก์ที่ศาลแพ่ง จำเลยที่ 2และทนายจำเลยที่ 2 มิได้ไปศาลตามนัด แต่ศาลได้สืบพยานโจทก์ไปโดยมิได้มีการสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณานั้นเป็นเรื่องยุติไปแล้ว โดยจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ฎีกา จำเลยที่ 1 จะฎีกาแทนจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share