คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2285/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์พาจำเลยที่ 1 ไปเจรจาในห้องของร้อยเวร โจทก์บอกว่าจำเลยที่ 2 ยืมเงินโจทก์ 40,000 บาท และลักเครื่องวีดีโอ ของโจทก์รวมแล้วเป็นหนี้โจทก์ 70,000 บาท ขอให้ผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาทและให้จำเลยที่ 1 ไปปรึกษากับจำเลยที่ 2 ที่ถูกขังอยู่ในห้องขังจำเลยที่ 1 จึงถามจำเลยที่ 2 ว่าจะผ่อนชำระหรือไม่ จำเลยที่ 2ตอบว่า แล้วแต่ โจทก์และจำเลยทั้งสองจึงได้ลงลายมือชื่อในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า จำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่70,000 บาท ยอมผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาท และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกัน ดังนี้พฤติการณ์ดังกล่าวยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองถูกข่มขู่ให้ลงชื่อ การที่โจทก์กล่าวกับจำเลยทั้งสองว่า หากจำเลยไม่ยอมลงชื่อในบันทึกข้อตกลง โจทก์จะดำเนินคดีอาญาจำเลยที่ 2เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมตาม ป.พ.พ. มาตรา 127 ไม่เป็นการข่มขู่ตามกฎหมายที่จะทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกเป็นโมฆียะ ส่วนการที่โจทก์กล่าวอ้างกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรีว่า ได้แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวาว่า จำเลยที่ 2 ลักเครื่องวีดีโอ เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัวจำเลยที่ 2 และนำตัวจำเลย ที่ 2 ไปที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวาเพื่อเจรจาตกลงดังกล่าวเป็นกรณีโจทก์ใช้อุบายพาจำเลยที่ 2 ไปไป สถานีตำรวจนครบาลยานนาวาไม่เป็นการข่มขู่ให้จำเลยทั้งสองยอมตกลงกับโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่ 70,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 2 จะผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาท นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2527หากผิดนัดยอมให้โจทก์ฟ้องได้ทันที ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์ 4 งวดเท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่เคยติดต่อและไม่ชำระหนี้ให้โจทก์เลย โจทก์ได้ทวงถามหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้แก่โจทก์ 64,000บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่าได้ลงลายมือชื่อในบันทึกรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันของสถานีตำรวจนครบาลยานนาวาตามที่โจทก์ฟ้อง เนื่องจากโจทก์ได้ใช้อุบายหลอกลวงและข่มขู่ว่าหากจำเลยไม่ยอมรับเป็นผู้ค้ำประกันโจทก์จะดำเนินคดีอาญากับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงลงชื่อบันทึกดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ความจริงจำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์เพียง 40,000 บาท เท่านั้น โจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลยที่ 2 เป็นการผ่อนเวลาชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ย่อมหลุดพ้นความรับผิด
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ลงชื่อในบันทึกรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันของสถานีตำรวจนครบาลยานนาวาตามฟ้องโจทก์ เนื่องจากโจทก์ใช้อุบายหลอกลวงและข่มขู่ว่า หากจำเลยไม่ยอมลงชื่อจะดำเนินคดีอาญาฐานลักทรัพย์ เกรงจะเกิดความเสียหายแก่เสรีภาพและเสื่อมเสียแก่วงศ์สกุล จึงจำยอมลงลายมือชื่อ บันทึกดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์64,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2527 โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีใจความว่าจำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 70,000บาท ยอมผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาท และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันคดีมีประเด็นตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อเพราะโจทก์ข่มขู่หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์กับร้อยตำรวจโทอิทธิพรโพธิสุข พนักงานสอบสวนเบิกความประกอบยืนยันว่า จำเลยทั้งสองตกลงกับโจทก์โดยสมัครใจ ไม่มีใครบังคับขู่เข็ญจำเลยทั้งสอง แม้ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองก็ปรากฏว่า โจทก์พาจำเลยที่ 1 ไปเจรจากันในห้องของร้อยตำรวจโทอิทธิพรนายร้อยเวร และโจทก์บอกจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 ยืมเงินโจทก์ 40,000 บาท และลักเครื่องวีดีโอของโจทก์รวมแล้วจำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก 70,000 บาท ขอให้ผ่อนชำระเดือนละ 1,500บาท และให้จำเลยที่ 1 ไปปรึกษาจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงนำความไปบอกจำเลยที่ 2 และถามว่าจะผ่อนชำระได้หรือไม่ จำเลยที่ 2 ตอบว่า”แล้วแต่” ซึ่งจำเลยที่ 2 อธิบายว่า หมายถึงให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ เพราะจำเลยที่ 2 ไม่มีเงิน ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้โต้แย้งขัดขืนอย่างไร ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ข่มขู่จำเลยทั้งสอง และแม้จะฟังว่า โจทก์ได้กล่าวกับจำเลยทั้งสองก่อนลงลายมือชื่อว่าหากจำเลยไม่ยอมลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลง โจทก์จะดำเนินคดีอาญาจำเลยที่ 2 ก็เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 127ไม่เป็นการข่มขู่ตามกฎหมายที่จะทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นโมฆียะ ส่วนที่โจทก์เบิกความว่า โจทก์ได้บอกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรีว่า โจทก์ได้แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวาว่าจำเลยลักเครื่องวีดีโอของโจทก์เจ้าพนักงานตำรวจได้ลงประจำวันไว้แล้ว ร้อยตำรวจโทอิทธิพรพนักงานสอบสวนได้มอบหมายจับจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ โจทก์ตามหาอยู่ 6 เดือนพบจำเลยที่ 2 ที่จังหวัดนนทบุรี โจทก์แสดงหมายจับต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และพาจำเลยที่ 2 ไปสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา แต่ร้อยตำรวจโทอิทธิพร โพธิสุข เบิกความว่า พยานไม่ได้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 เพราะโจทก์เพียงแต่แจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น พิเคราะห์ประกอบสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมีข้อความว่าโจทก์แจ้งความไว้เป็นหลักฐาน และโจทก์จะไปตามจำเลยที่ 2 มาเพื่อตกลงกันต่อไป ข้อเท็จจริงจึงน่าจะเป็นดังที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าโจทก์อ้างต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรีว่าโจทก์ได้แจ้งจับจำเลยที่ 2 ไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรีจึงมอบให้โจทก์นำจำเลยที่ 2 ส่งสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแสดงว่าโจทก์ใช้อุบายพาจำเลยที่ 2 ไปสถานีตำรวจนครบาลยานนาวาเพื่อเจรจาตกลงกัน ซึ่งเป็นคนละตอนกับการเจรจากันที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา ข้อเท็จจริงที่โจทก์ใช้อุบายพาจำเลยที่ 2 ไปสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา ไม่เป็นการข่มขู่ให้จำเลยทั้งสองยอมตกลงกับโจทก์…”
พิพากษายืน.

Share