แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานอุทธรณ์ได้เฉพาะใน ข้อกฎหมายไปยังศาลฎีกา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 54 จึงไม่อาจ มีการรับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อไปสู่การวินิจฉัย ของศาลฎีกาได้
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ จำเลยเป็นบุคคลเดียวกันศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ศาลแรงงานกลาง พิพากษาว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่นายชลิต โรจนแสง โจทก์ที่ 1 จำนวน 18,000 บาท นางสาวสุนีย์ กิตติฤดีกุล โจทก์ที่ 2 จำนวน 19,600 บาท และนายสุทธิพงษ์ แสงวิเศษ โจทก์ที่ 3 จำนวน 18,000 บาท จำเลยยื่นอุทธรณ์ และยื่นคำร้อง ขอทุเลาการบังคับคดีและคำร้องขอให้รับรองข้อเท็จจริงศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์และให้ยกคำร้องดังกล่าวจำเลยจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสามทำงานกับจำเลยในฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยอุทธรณ์โดยหยิบยกคำเบิกความของพยานและเอกสารต่าง ๆ ขึ้นอ้างอิง เพื่อให้ศาลฎีกาฟังว่าโจทก์ทั้งสาม มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ และจำเลยเป็นการจ้างทำของนั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจ ในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่ง ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีรับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น โดยที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54บัญญัติว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในข้อกฎหมายไปยังศาลฎีกากรณีจึงไม่อาจรับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อไปสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาได้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของ จำเลย จึงชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ทุเลาการบังคับคดีไว้นั้นเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาแล้วจึงไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยสั่งคำร้องของ จำเลยในข้อนี้อีก
จึงให้ยกคำร้องของ จำเลย”