คำวินิจฉัยที่ 26/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เคยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ ต่อมาได้ผ่านการแปลงสภาพตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ ให้กลายมาเป็นบริษัทมหาชนจำกัด จึงมิใช่รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา อันจะถือว่าเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่อาจเป็นหน่วยงานทางปกครองประเภทหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง หากได้กระทำการตามที่ได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่จากรัฐเกี่ยวกับการประกอบกิจการและส่งเสริมการท่าอากาศยาน รวมทั้งการดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการการท่าอากาศยานอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ นอกเหนือจากนี้ ย่อมเป็นการกระทำในฐานะเอกชน การที่บริษัทท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) อนุญาตให้สมาคมสโมสรท่าอากาศยานใช้พื้นที่ท่าอากาศยานบางส่วนเพื่อปรับปรุงเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มราคาประหยัด สำหรับสวัสดิการพนักงานและลูกจ้าง จึงเป็นไปเพื่อการจัดสวัสดิการให้แก่บุคคลากรของบริษัท มิใช่เพื่อการดำเนินกิจการทางปกครองที่เกี่ยวกับกิจการและการส่งเสริมการท่าอากาศยานตามที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับมอบหมาย จากรัฐ การกระทำของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่อนุญาตให้โจทก์ใช้พื้นที่ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงมิใช่เป็นการกระทำในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง อันจะถือว่าเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เป็นการกระทำในฐานะนิติบุคคลเอกชนอันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกัน จึงไม่อาจเป็นผลให้โจทก์มีสถานะเป็นหน่วยงานทางปกครองไปได้
สัญญาที่สมาคมสโมสรท่าอากาศยาน อนุญาตให้บริษัท ค. จำเลย ดำเนินการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่บางส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งสมาคมสโมสรท่าอากาศยานได้รับอนุญาตจากบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ให้เข้าใช้พื้นที่ เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นเอกชน และเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นไปในเชิงพาณิชย์เพื่อประโยชน์แก่คู่สัญญา ทั้งสองฝ่าย มิใช่เพื่อประโยชน์แก่รัฐหรือการบริการสาธารณะ จึงไม่เข้านิยาม “สัญญาทางปกครอง” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามสัญญาในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หากแต่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share