แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา การที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษา ต่อมาภายหลังจากนั้น ย่อมเป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้อง
ย่อยาว
คดีทั้ง 4 สำนวนศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์คดีที่ 1 ว่าโจทก์ที่ 1 โจทก์คดีที่ 2 ว่าโจทก์ที่ 2 โจทก์คดีที่ 3 ว่าโจทก์ที่ 3 โจทก์ในคดีที่ 4 ว่าโจทก์ที่ 4
โจทก์ทั้ง 4 สำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 496 และโฉนดเลขที่ 19222 ตำบลในเมือง (ปทุม) อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่รวมประมาณ 100 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นห้องแถวชั้นเดียว 5 คูหา โดยได้รับมรดกมาจากนายสังข์ นางแย้ม กรุณา บิดามารดา เมื่อปี 2537 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสังข์ นางแย้ม แล้วโจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดิน 2 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวขายให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองคบคิดกันฉ้อฉลและรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ทั้งสี่เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนการโอนเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสี่
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การทั้ง 4 สำนวน
จำเลยที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันทั้ง 4 สำนวนว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง แต่ทรัพย์ดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวจำเลยที่ 2 ซื้อทรัพย์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและเปิดเผย จำเลยที่ 2 ไม่ได้คบคิดกับจำเลยที่ 1กระทำการฉ้อฉล ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 3มกราคม 2538 เฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสี่ ตามแผนผังสังเขปการแบ่งที่ดินเอกสารท้ายฟ้องทั้ง 4 สำนวน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าในวันสืบพยาน กล่าวคือวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน วันที่ 10 พฤศจิกายน 2538จำเลยที่ 1 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ เป็นการที่จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา ให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 202 จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกมากล่าวอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาต่อมาภายหลังจากนั้น ย่อมเป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบ จำต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้อง”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นทำการสืบพยาน แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี