คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 227/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความตามคำฟ้องโจทก์ว่า จำเลยลงลายมือชื่อบุคคลอื่นเบิกเงินจากธนาคารและสลักหลังแคชเชียร์เช็ค เป็นการหลอกลวงธนาคาร ทำให้ธนาคารหลงเชื่อว่าเป็นลายมือชื่ออันแท้จริงของบุคคลนั้น จำเลยกระทำการทุจริตเพื่อให้ได้เงินจากธนาคาร และจำเลยได้เงินจากธนาคารไปโดยธนาคารสั่งจ่ายเงินให้จำเลยเอง ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ดังที่โจทก์ฟ้องไม่ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ได้
สำนวนแรกการที่จำเลยปลอมลายมือชื่อ ย.ลงในใบถอนเงินนำไปใช้แสดงต่อธนาคาร จนธนาคารสั่งจ่ายเงินแล้ว จำเลยก็ยังรับเงินจำนวนนั้นไปไม่ได้เพราะจำเลยไม่ใช่ ย. จำเลยจึงนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเปลี่ยนเป็นแคชเชียร์เช็คจ่ายตามคำสั่งของ ย. แล้วจำเลยก็ปลอมลายมือชื่อของ ย. สลักหลังลอยในแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าว นำไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งหมดก็เพื่อให้ได้ไปซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนั่นเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ
สำนวนหลังจำเลยปลอมลายพิมพ์นิ้วมือ ร.ในใบถอนเงินนำไปใช้แสดงต่อธนาคาร จนธนาคารสั่งจ่ายเงินและจำเลยนำเข้าบัญชีของ ฮ. ให้ ฮ.สั่งจ่ายเงินสดจำนวนนี้ จำเลยได้เงินจำนวนนี้ไปเป็นความผิดสำเร็จขาดตอนไปแล้ว เมื่อจำเลยนำเงินจำนวนนี้รวมกับเช็คที่ ท. สั่งจ่ายเงินสดไปแลกเป็นแคชเชียร์เช็คจ่ายตามคำสั่งของ ท.แล้วจำเลยปลอมลายมือชื่อ ท. สลักหลังลอบในแคชเชียร์เช็คฉบังดังกล่าวนำไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยก็เป็นความผิดสำเร็จอีกตอนหนึ่ง การกรทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษจำเลยทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจะเลยเป็นลูกจ้างของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระกัน กล่าวคือ สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า ก. จำเลยบังอาจปลอมลายมือชื่อนายแย้ง คณะเจริญ ซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากประเภท ๑๒ เดือน เลขที่ ๖๖๘ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี ลงในใบถอนเงินบัญชีเงินฝาก แล้วจำเลยกรอกข้อความในใบถอนเงินว่านายย้ง คณะเจริญ ขอถอนเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี เป็นจำนวน ๙๐๐,๐๐๐ บาท อันเป็นการปลอมเอกสารสิทธิ แล้วจำเลยได้นำใบถอนเงินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมนี้ไปใช้แสดงต่อพนักงานของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี เพื่อให้พนักงานหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ข. จำเลยได้ให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี ถอนเงินจำนวน ๙๐๐,๐๐๐ บาท ออกจากบัญชีเงินฝากของนายย้ง คณะเจริญ แล้วนำไปเปลี่ยนแคชเชียรเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี จ่ายตามคำสั่งของนายย้ง คณะเจริญ เป็นจำนวนเงิน ๙๐๐,๐๐๐ บาท เวลาต่อมาในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยได้ปลอมลายมือชื่อของนายย้ง คณะเจริญ สลักหลังลอยในแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวซึ่งเป็นการปลอมตั๋วเงินแล้วจำเลยได้นำตั๋วเงินปลอมไปเข้าบัญชีเงินฝากเลขที่ ๙๔๒ ของจำเลยซึ่งเปิดไว้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาบางกะปิ ทำให้พนักงานของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาบางกะปิ หลวงเชื่อว่าเป็นตั๋วเงินที่นายย้ง คณะเจริญ สลักหลังลอยให้จำเลยจริง ค.เนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยดังกล่าวในข้อ ก. และ ข. จำเลยได้บังอาจเอาไปซึ่งทรัพย์สินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี เป็นจำนวนเงิน ๙๐๐,๐๐๐ บาท โดยสุจริต ทั้งนี้ จำเลยใช้อุบายดังกล่าวมาแล้วลักทรัพย์
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า ก. จำเลยได้ปลอมลายพิมพ์นิ้วมือของนายรุน จ้อยรุ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากประจำของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี เลขที่ ๑๐๔๕ ลงในใบถอนเงินบัญชีเงินฝาก แล้วจำเลยได้กรอกข้อความลงในใบถอนเงินดังกล่าวว่านายรุน จ้อยรุ่ง ขอถอนเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี เป็นจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท อันเป็นการปลอมเอกสารสิทธิ แล้วจำเลยได้นำใบถอนเงินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมปนี้ไปใช้แสดงต่อพนักงานของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี เพื่อให้พนักงานหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ข.จำเลยได้ถอนเงินจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท ออกจากบัญชีเงินฝากของนายรุน จ้อยรุ่ง แล้วนำไปเข้าบัญชีเงินฝากเลขที่ ๐๖๘ ของนายเฮม ลิเซนต์ แล้วจำเลยนำเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี มีนายเฮม ลิเซนต์ เป็นผู้สั่งจ่ายเงินสดจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท กับเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี มีนายทวี ณ เชียงใหม่ เป็นผู้สั่งจ่ายเงินสดจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท รวมกันเป้ฯเงิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท นำไปโอนแลกแคชเชียร์เช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี จ่ายตามคำสั่งของนายทวี ณ เชียงใหม่ เป็นจำนวน ๘๐๐,๐๐๐ บาท แล้วจำเลยได้บังอาจปลอมลายมือชื่อนายทวี ณ เชียงใหม่ สลักหลังลอบในแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าว อันเป็นการปลอมตั๋วเงิน แล้วจำเลยได้นำตั๋วเงินปลอมไปเข้าบัญชีเงินฝากเลขที่ ๙๔๒ ของจำเลยซึ่งเปิดไว้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาบางกะปิ ทำให้พนักงานของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาบางกะปิ หลงเชื่อว่า เป็นตั๋วเงินที่นายทวี ณ เชียงใหม่ สลักหลังลอยให้จำเลยจริง ค. เนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยดังกล่าวในข้อ ก. และ ข. จำเลยได้บังอาจเอาไปซึ่งทรัพย์สินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี จำนวนเงิน ๖๐๐,๐๐๐ บาท และทรัพย์สินของนายทวี ณ เชียงใหม่ เป็นจำนวนเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ไปโดยทุจริต ทั้งนี้ โดยจำเลยใช้อุบายดังกล่าวมาแล้วลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสำนวนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๒๖๘, ๓๓๕ (๑๑), ๙๑ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒ ให้จำเลยคืนเงิน ๙๐๐,๐๐๐ บาท ในสำนวนแรกแก่เจ้าทรัพย์ และคืนเงินในสำนวนหลังจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท แก่นายทวี ณ เชียงใหม่
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต
จำเลยให้การรับสารภาพทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการทั้งหมดโดยมีเจตนาลักทรัพย์เท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว แต่ผิดกฎฆมายหลายบท พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๒๖๘, ๓๓๕ (๑๑), ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๖ ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๘ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกจำเลยสำนวนละ ๓ ปี สองสำนวนรวม ๖ ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยสองสำนวนรวม ๓ ปี ให้จำเลยคืนเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขามีนบุรี และคืนเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาทแก่นายทวี ณ เชียงใหม่
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยให้สูงกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ พิพากษาแก้เป็นให้จำคุกจำเลยสำนวนละ ๕ ปี รวมสองสำนวน ๑๐ ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยไว้สองสำนวนรวม ๕ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ศาลฎีกาตรงสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ได้ความตามคำฟ้องโจทก์ ทั้งสามสำนวนว่า จำเลยลงลายมือชื่อบุคคลอื่นเบิกเงินจากธนาคารและสลักหลังเช็คเป็นการหลอกลวงธนาคาร ทำให้ธนาคารหลงเชื่อว่าเป็นลายมืออันแท้จริงของบุคคลนั้น จำเลยกระทำการทุจริตเพื่อจะให้ได้เงินจากธนาคาร และจำเลยได้เงินจากธนาคารไปโดยธนาคารจ่ายเงินให้จำเลยเอง ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ดังที่โจทก์ฟ้องไม่ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ได้ จำเลยคงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและตั๋วเงิน กับใช้เอกสารปลอมเท่านั้น
ปัญหาเรื่องความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและตั๋วเงินกับใช้เอกสารปลอมจะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันนั้น เห็นว่าในสำนวนแรกเมื่อจำเลยปลอมลายมือชื่อนายย้ง คณะเจริญ ลงในใบถอนเงินนำไปใช้แสดงต่อธนาคารจนธนาคารสั่งจ่ายเงินแล้ว จำเลยก็ยังรับเงินจำนวนนั้นไปไม่ได้ เพราะจำเลยไม่ใช่นายย้ง คณะเจริญ จำเลยจึงนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเปลี่ยนเป็นแคชเชียร์เช็คจ่ายตามคำสั่งของนายย้ง คณะเจริญ แล้วจำเลยก็ปลอมลายมือชื่อของนายย้ง คณะเจริญ สลักหลังลอยในแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวนำไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งหมดก็เพื่อให้ได้ไปซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนั่นเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษส่วนในสำนวนหลังเมื่อจำเลยปลอมลายพิมพ์นิ้วมือนายรุน จ้อยรุ่ง ลงในใบถอนเงินนำไปใช้แสดงต่อธนาคารจนธนาคารสั่งจ่ายเงินและจำเลยนำไปเข้าบัญชีของนายเฮม ลิเซนต์ ให้นายเฮม ลิเซนต์ สั่งจ่ายเงินสดจำนวนนี้ จำเลยได้เงินจำนวนนี้ไปเป็นความผิดสำเร็จขาดตอนไปแล้ว เมื่อจำเลยนำเงินจำนวนนี้รวมกับเช็คที่นายทวี ณ เชียงใหม่ สั่งจ่ายเงินสดจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ไปโอนแลกเป็นแคชเชียร์เช็คจ่ายตามคำสั่งของนายทวี ณ เชียงใหม่ แล้วจำเลยปลอมลายมือชื่อนายทวี ณ เชียงใหม่ สลักหลังลอยในแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวนำไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ก็เป็นความผิดสำเร็จอีกตอนหนึ่ง การกระทำของจำเลยในสำนวนหลังจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษจำเลยทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฎีกาโจทก์ในสำนวนหลังฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า สำนวนแรกจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕, ๒๖๖ และ ๒๖๘ ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๖๘ โดยวางโทษตามมาตรา ๒๖๖ จำคุกจำเลย ๕ ปี สำนวนหลังจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ และ ๒๖๘ กระทงหนึ่ง ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๖๘ โดยวางโทษตามมาตรา ๒๖๕ จำคุกจำเลย ๓ ปี และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๖ และ ๒๖๘ อีกกระทงหนึ่งให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๖๘ โดยวางโทษตามมาตรา ๒๖๖ จำคุกจำเลย ๕ ปี รวมโทษจำคุก ๑๓ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๖ ปี ๖ เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานลักทรัพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share