แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 วรรคสอง ให้อำนาจเด็กฟ้องคดีให้รับรองเด็กเป็นบุตรได้เองโดยเฉพาะ ทั้งขณะยื่นฟ้องโจทก์ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย คดีของโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุม ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ส่วนฟ้องของโจทก์ในเรื่องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นผลหลังจากที่มีการรับรองความเป็นบุตรของโจทก์แล้วและเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการรับรองบุตร โจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2507 มารดาโจทก์กับจำเลยอยู่กินเป็นสามีภรรยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือตัวโจทก์ ขณะนี้อายุ 16 ปีเศษ ต่อมาเดือนเมษายน 2512 มารดาโจทก์และจำเลยตกลงทำบันทึกเลิกจากการเป็นสามีภรรยาที่สถานีตำรวจโดยโจทก์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของมารดาโจทก์ และจำเลยให้ความอุปการะเลี้ยงดูเป็นบางครั้ง ในระหว่างที่มารดาโจทก์และจำเลยอยู่กินร่วมกันนั้น จำเลยมีพฤติการณ์ที่แสดงว่าโจทก์เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยและมารดาโจทก์อยู่กินร่วมกันโดยเปิดเผยในระหว่างตั้งครรภ์ และพามารดาโจทก์ไปคลอดที่โรงพยาบาล จำเลยเป็นผู้ไปแจ้งเกิดด้วยตนเอง ณ สำนักงานทะเบียนท้องถิ่น ให้โจทก์ใช้นามสกุลของจำเลย โจทก์จึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่จำเลยรับรองแล้วให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์เดือนละ5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะบรรลุนิติภาวะ จำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยเป็นสามีภรรยากับมารดาโจทก์ ไม่เคยให้ความอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์และมารดาโจทก์ ไม่เคยพามารดาโจทก์ไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาล จำเลยไม่เคยไปแจ้งเกิดของโจทก์ ไม่เคยอนุญาตให้โจทก์ใช้นามสกุลของจำเลยและไม่เคยไปทำบันทึกเลิกจากการเป็นสามีภรรยากับมารดาโจทก์ที่สถานีตำรวจ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นบุตรของจำเลยซึ่งเกิดจากนางตุ๊กตา เพิ่มพูนธนะวงศ์ให้จำเลยไปจดทะเบียนรับรองบุตรภายในกำหนด 30 วัน ถ้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลย จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท จนกว่าโจทก์จะบรรลุนิติภาวะจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาเห็นว่า คำพยานโจทก์มีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานจำเลย เชื่อว่าจำเลยและนางตุ๊กตามารดาโจทก์ได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งมารดาโจทก์อาจตั้งครรภ์ได้และมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าโจทก์เป็นบุตรของจำเลย โจทก์จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1555(5)(7) ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ข้อพิจารณาต่อไปมีว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยได้หรือไม่เพียงใดในประการแรกที่ว่าโจทก์มีสิทธิ์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นบิดาหรือไม่นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้แล้วว่า “เมื่อเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องเองทั้งนี้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม” แสดงว่ากฎหมายให้อำนาจเด็กฟ้องคดีให้รับรองเด็กเป็นบุตรได้เองโดยเฉพาะอีกทั้งขณะยื่นฟ้องโจทก์ก็ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยคดีของโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุม ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 และดังนั้นฟ้องของโจทก์ในเรื่องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นผลหลังจากที่มีการรับรองความเป็นบุตรของโจทก์แล้ว และเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการรับรองบุตรนั่นเอง โจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีในประการหลังด้วย”และปัญหาต่อไปที่ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้นั้นสูงเกินสมควร เห็นว่า โจทก์กำลังศึกษาเล่าเรียน จำเป็นต้องใช้จ่ายในการศึกษา ทั้งค่าครองชีพในปัจจุบันก็สูงขึ้นมาก เมื่อนำรายได้ของจำเลยซึ่งจำเลยสามารถให้ได้มาพิจารณาประกอบ ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์เดือนละ 3,000 บาท จนกว่าโจทก์จะบรรลุนิติภาวะนั้น นับว่าเหมาะสมแล้วฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยไปจดทะเบียนรับรองบุตรภายในกำหนด 30 วัน ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น ไม่ชอบเพราะตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478มาตรา 20 บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้ว เพื่อให้บันทึกในทะเบียนเท่านั้นประกอบกับโจทก์มิได้มีคำขอบังคับดังกล่าวมาในคำฟ้อง จึงเป็นกรณีที่พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก”
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนที่บังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนรับรองบุตรนั้นให้ยกเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์