คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 31/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในชั้นบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดรวม 7 แปลง จำเลยได้ร้องคัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ขอให้ขายที่ดินดังกล่าวแยกจากกันทีละแปลง เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีคำสั่งให้จำเลยดำเนินการร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งในเรื่องนี้ จำเลยจึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้มีคำสั่งดังกล่าวโดยอ้างว่า ราคาที่ดินที่ถูกยึดตามราคาที่เจ้าพนักงานประเมินไว้เพียงแปลงเดียวก็มีมูลค่าเกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยต้องรับผิดแล้ว ดังนี้หากความเป็นจริงเป็นดังที่จำเลยกล่าวอ้างคำร้องดังกล่าวก็มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะพิจารณาอนุญาตให้ขายที่ดินของจำเลยทีละแปลงดังที่จำเลยร้องขอได้ เพื่อประโยชน์ความยุติธรรม จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องไต่สวนคำร้อง ของ จำเลยก่อน.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 รวมพร้อมกัน 7 แปลง ต่อมาจำเลยที่ 1ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ร้องคัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ขายที่ดินดังกล่าวแยกจากกันทีละแปลง เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 มาดำเนินการร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งในเรื่องนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่า การขายที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 33868 ก็จะได้เงินพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้แล้ว หากขายรวมพร้อมกันทุกแปลง จะทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายมาก จึงขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้ขายที่ดินของจำเลยที่ 1 แยกทีละแปลงด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการชั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อน ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้รับคำร้องของจำเลยที่ 1 ไว้ และให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1ให้เหตุผลว่าเจ้าพนักงานประเมินราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 33868แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 1 ไว้ในราคาตารางวาละ 2,000 บาท ราคาที่ดินทั้งแปลงจึงมีจำนวนถึง1,160,000 บาท แต่หนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยมีเพียง421,000 บาท ดังนั้นหากขายที่ดินแปลงนี้แปลงเดียวก็เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว การขายที่ดินของจำเลยที่ 1 อีก 6 โฉนดพร้อมกับที่ดินแปลงดังกล่าวจะทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายอย่างมากจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินของจำเลยที่ 1 ทีละแปลง เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 มาร้องขอต่อศาล จำเลยที่ 1 จึงได้มายื่นคำร้องนี้ ดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่าหากความจริงเป็นดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในคำร้องดังกล่าวก็มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ขายที่ดินของจำเลยที่ 1 ทีละแปลงดังที่จำเลยที่ 1 ร้องขอได้ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 เสียก่อนที่จะพิจารณาสั่งคำร้อง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share