คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10325/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถยนต์ที่โจทก์รับประกันไว้ นาย ส.ค. เป็นผู้เช่าซื้อ โดยมี นาย ส.พ. เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อ ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบแต่ผู้เดียวในบรรดาอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้รถยนต์ ส่วนตามสัญญาค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันจำต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อด้วยในฐานะลูกหนี้ร่วม นาย ส.พ. ผู้ค้ำประกันจึงมีส่วนได้เสียในความเสียหายของรถยนต์คันดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยตามสัญญาค้ำประกัน สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์และนาย ส.พ. จึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ แม้จะมิได้หยิบยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยให้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แล้วเกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยทั้งสองฝ่ายประมาทพอ ๆ กัน หรือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แล้วพิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็หาได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหรือไม่ และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างซึ่งขับรถไปในทางการที่จ้างหรือไม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 510,569 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 330,667 บาท โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายส่วนที่ยังขาดอยู่อีก 179,902 บาท แก่โจทก์ ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในชั้นฎีกา จึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเพียงฝ่ายเดียว เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญารับประกันรถยนต์บรรทุกไว้จากนายสมพล จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 87 – 4759 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 87 – 4759 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างหรือทางการอันมีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงและขับแซงรถยนต์ซึ่งแล่นนำหน้าในบริเวณที่เกิดเหตุอันเป็นทางโค้งห้ามแซง แล่นล้ำช่องเดินรถสวน เป็นเหตุให้รถคันที่จำเลยที่ 1 ขับพุ่งเข้าเฉี่ยวชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย เป็นเหตุให้คนขับรถคันดังกล่าวถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ลากรถและนำรถคันที่รับประกันภัยไว้ไปซ่อมแซม ต้องเสียค่าใช้จ่าย โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิในค่าเสียหายดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กระทำละเมิด และจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างหรือในฐานะตัวการของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมกันรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 510,569 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 496,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 87 – 4759 กรุงเทพมหานคร ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นแต่เพียงผู้เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากผู้มีชื่อ และในระหว่างเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว เนื่องจากได้ให้ผู้มีชื่อเช่าไป นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างและไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 1 วันเกิดเหตุมีผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 87 – 4759 กรุงเทพมหานคร เฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้จริง แต่ผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวจะใช่จำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 2 ไม่ทราบและเหตุที่รถเฉี่ยวชนกันขึ้นเกิดจากความประมาทของคนขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทน ได้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไปในทางการที่จ้างของนายสมพล ผู้เอาประกันภัย และจากการที่รถเฉี่ยวชนกันทำให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 87 – 4759 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยที่ 2 เช่าซื้อมาได้รับความเสียหายหลายรายการ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เช่าซื้อ ได้ซ่อมแซมรถยนต์คันดังกล่าวต้องเสียค่าซ่อมแซมเป็นเงิน 265,698 บาท จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย หากเสียหายก็ไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 265,698 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 87 – 4759 กรุงเทพมหานคร และเป็นนายจ้างซึ่งใช้จ้างวานให้จำเลยที่ 1 ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุ เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 มิใช่ความประมาทของคนขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ จำเลยที่ 2 มิได้จ่ายค่าซ่อมแซมรถเป็นเงิน 265,698 บาท เนื่องจากรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 87 – 4759 กรุงเทพมหานคร เสียหายไม่เกิน 20,000 บาท ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ก่อนสืบพยาน โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกนางพรพรหม รอดแก้ว เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมมิใช่นายจ้างและมิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 จ้างวานให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 87 – 4759 กรุงเทพมหานคร จำเลยร่วมเป็นแต่เพียงผู้ส่งสินค้าไปกับรถยนต์คันดังกล่าวเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยร่วม เพราะนายสมพลไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 5671 นครศรีธรรมราช จึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะนำรถยนต์คันดังกล่าวไปทำสัญญาประกันภัยไว้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์คันดังกล่าว แม้โจทก์จะซ่อมแซมรถยนต์คันดังกล่าว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิจากนายสมพลจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 330,667 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ แม้ปัญหาดังกล่าวจะมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยให้ และเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์คันเกิดเหตุที่โจทก์รับประกันภัยไว้ นายสมคิดเป็นผู้เช่าซื้อ โดยมีนายสมพลเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อแล้วนายสมพลนำรถยนต์คันดังกล่าวประกันภัยไว้กับโจทก์ ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อระบุว่าตลอดเวลาการเช่าซื้อนี้ ผู้เช่าซื้อจะรับผิดชอบทั้งปวงแต่ผู้เดียวในบรรดาอุบัติเหตุ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทั้งหลายที่เกิดจากการใช้รถยนต์ของผู้เช่าซื้อหรือบุคคลใด ๆ ส่วนสัญญาค้ำประกันยังระบุว่า ผู้ค้ำประกันยอมร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม จากข้อความดังกล่าวเมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อไปเกิดอุบัติเหตุได้รับความเสียหายในระหว่างอายุสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น และนายสมพลในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อด้วยในฐานะลูกหนี้ร่วม ดังนั้นนายสมพลจึงมีส่วนได้เสียในความเสียหายของรถยนต์คันดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยตามสัญญาค้ำประกัน สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์และนายสมพลจึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหรือไม่ และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างซึ่งขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แล้วเกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โดยทั้งสองฝ่ายประมาทพอ ๆ กันหรือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แล้วพิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็หาได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยร่วมเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยร่วมเป็นเจ้าของสินค้าในรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 บรรทุกมา เมื่อเกิดเหตุเฉี่ยวชนแล้วจำเลยร่วมไปเจรจาเรื่องค่าเสียหายด้วยซึ่งต้องถือว่าจำเลยร่วมและจำเลยที่ 2 ร่วมกันเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกัน เห็นว่า โจทก์มีเพียงนายเชฏษ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความอ้างว่า จำเลยร่วมเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีหลักฐานใดมาประกอบเป็นแต่คำกล่าวอ้างลอย ๆ ข้อที่ว่าจำเลยร่วมเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ นั้น โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง เมื่อจำเลยร่วมให้การปฏิเสธภาระในการพิสูจน์ย่อมตกแก่โจทก์ การที่โจทก์นำสืบกล่าวอ้างลอย ๆ เมื่อจำเลยร่วมปฏิเสธย่อมเท่ากับว่าโจทก์ไม่สามารถนำสืบว่าจำเลยร่วมเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยร่วมนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่า เหตุที่รถยนต์ทั้งสองคันเกิดเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 510,569 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 330,667 บาท ค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ไม่ได้รับเต็มตามคำขอท้ายฟ้องเป็นเงิน 179,902 บาท เมื่อโจทก์ฎีกาว่าเหตุเฉี่ยวชนเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียวเท่ากับขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายส่วนที่ยังขาดอยู่อีก 179,902 บาท แก่โจทก์ ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในชั้นฎีกาจึงไม่เกินสองแสนบาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ประมาทด้วยกันทั้งสองฝ่าย โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเพียงฝ่ายเดียว เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share