คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6129/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลแรงงานมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานซึ่งยื่นฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 88 ได้ตามป.วิ.พ. มาตรา 87(2) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย โดยเข้าทำงานเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2530 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,200 บาทเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2534 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาโจทก์ละทิ้งหน้าที่เกินสามวันโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบ โจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามที่จำเลยกล่าวหา ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 19,200 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงาน กล่าวคือ โจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่เกินสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์มีพฤติกรรมในการลาป่วยไม่น่าเชื่อถือ บางครั้งโจทก์ขาดงานไปวันหนึ่งหรือสองวัน เมื่อมาทำงานก็อ้างว่าป่วยอยู่เป็นประจำ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยมาเกินกว่าสามปีแล้ว จำเลยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,200 บาทโจทก์ตกสะพาน กระดูกหัวแม่เท้าขวาแตกจนไม่สามารถไปทำงานตามปกติในวันที่ 19-23 มิถุนายน 2534 การขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ของโจทก์จึงมีเหตุอันสมควร เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน 19,200 บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางออกนั่งพิจารณาสืบพยานโจทก์วันที่ 21 สิงหาคม 2534เวลา 13.30 นาฬิกา สืบพยานโจทก์ได้ 2 ปาก โจทก์อ้างส่งเอกสารใบรับรองแพทย์ 1 ฉบับ ศาลหมาย จ.1 เอกสารดังกล่าวโจทก์ไม่ได้ระบุไว้ในบัญชีพยาน ครั้นเวลา 15.20 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว โจทก์จึงยื่นคำร้องขอระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมจำเลยไม่ได้รับสำเนาคำร้องระบุบัญชีพยานเพิ่มเติม เพราะจำเลยกลับบ้านไปแล้วเอกสารหมาย จ.1 จึงรับฟังเป็นพยานเอกสารไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 นั้นพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ศาลแรงงานกลางมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งยื่นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของมาตรา 88 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ เพราะเป็นกรณีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา87(2) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน.

Share