คำวินิจฉัยที่ 52/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๒/๒๕๕๔

วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๔

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแขวงพระนครเหนือ
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงพระนครเหนือโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๒ นางสาวอุฌาวดี วินุราช โจทก์ ยื่นฟ้อง พลตรี สกล เอี่ยมตระกูล ในฐานะหัวหน้าสำนักงานผู้บังคับบัญชา กองอำนวยการ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จำเลย ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๒๐๘/๒๕๕๒ ความว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานเตรียมข้อมูลและรหัสหอผู้ป่วย ๘/๘ ปฏิบัติงานอยู่ที่กองจิตเวชและประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากกรณีจำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักงานผู้บังคับบัญชา กองอำนวยการ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มีหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะในกิจการสายงานด้านต่างๆ ก่อนนำเรียนผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเพื่อพิจารณาต่อไป รวมทั้งกำกับดูแลตามความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานตามแผนงานและวงรอบการปฏิบัติงานประจำเพื่อให้เกิดการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องได้มีบันทึกข้อความที่ กห. ๐๔๔๖.๑๖/๑๑๕ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๑ เสนอความเห็นต่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (ผ่านหัวหน้าศูนย์บริหารงานทรัพยากรบุคคลฯ) เพื่อขออนุมัติไม่ต่อสัญญาการจ้างลูกจ้างชั่วคราวกับโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการปลอมใบสั่งยาของแพทย์อันเป็นข้อความที่ฝ่าฝืนต่อความจริง จำเลยรู้ว่าโจทก์ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตดังกล่าว เพราะจำเลยไม่เคยกล่าวหาหรือตั้งข้อหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัย ข้อบังคับและมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่เคยแต่งตั้งกรรมการสอบสวนขึ้นสอบสวนโจทก์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกฎเกล้ามีคำสั่งไม่ต่อสัญญาการจ้างลูกจ้างชั่วคราวกับโจทก์ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ ทางทำมาหาได้และสูญเสียโอกาสเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่มั่นคง รวมทั้งความเสียหายจากการที่ถูกเลิกจ้าง ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การพิจารณากลั่นกรองและให้ความเห็นแก่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าของจำเลยเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามระบบบริหารงาน มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์เสียหาย อำนาจชี้ขาดในการสั่งให้ต่อสัญญาการจ้างลูกจ้างชั่วคราว มิใช่เป็นอำนาจโดยตรงของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงมิได้เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแขวงพระนครเหนือพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักงานผู้บังคับบัญชาของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้ทำบันทึกข้อความถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (ผ่านหัวหน้าศูนย์บริหารงานทรัพยากรบุคคลฯ) ผู้ที่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งไม่ต่อสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวกับโจทก์คือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ทำบันทึกข้อความดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ทั่วไป มิใช่เป็นการออกคำสั่งทางปกครองหรือเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการกระทำอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลย จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาก่อนว่า การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ โดยที่มาตรา ๖ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๕๗ ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๑๕ บัญญัติว่า อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การให้อนุมัติหรือการปฏิบัติราชการประจำที่ผู้บังคับบัญชาทหารไม่ว่าจะเป็นชั้นใดซึ่งรองมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะพึงปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมายใดๆ จะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทหารตำแหน่งอื่นทำการแทนในนามของผู้บังคับบัญชาทหารผู้มอบอำนาจก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนด และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ผู้ทำการแทนมีอำนาจและหน้าที่ตามตำแหน่งที่ทำการแทนนั้นๆ ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ซึ่งมาตรา ๒๔ วรรคหกและวรรคเจ็ด แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติหลักการสำคัญไว้ในทำนองเดียวกันว่า อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการประจำที่ผู้บังคับบัญชาทหารไม่ว่าจะเป็นชั้นใด ซึ่งรองลงมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย่อมสามารถมอบอำนาจในการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการตามกฎหมายใดๆ ให้ผู้บังคับบัญชาทหารตำแหน่งอื่นทำการแทนในตำแหน่งของผู้บังคับบัญชาทหารผู้มอบอำนาจได้ โดยผู้ทำการแทนมีอำนาจและหน้าที่ตามตำแหน่งที่ทำการแทนนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสำนักงานผู้บังคับบัญชากองอำนวยการ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตามคำสั่งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (เฉพาะ) ที่ ๓๒๓/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ต่อมาผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้มีคำสั่งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (เฉพาะ) ที่ ๓๒๓/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ กำหนดให้หัวหน้าสำนักงานผู้บังคับบัญชาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองให้ข้อเสนอแนะในกิจการสายงานด้านต่างๆ ก่อนเสนอผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จึงเป็นกรณีที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทหารในสังกัดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามอบอำนาจให้หัวหน้าสำนักงานผู้บังคับบัญชากองอำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทหารตำแหน่งอื่น พิจารณากลั่นกรองกิจการงานด้านต่างๆ แทนตนก่อนจะเสนอให้ตัดสินใจสั่งการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เมื่อเป็นเช่นนี้การที่จำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักงานผู้บังคับบัญชา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเสนอความเห็นต่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าว่า ไม่ควรต่อสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งโจทก์ด้วย จึงอยู่ในขอบอำนาจหรือหน้าที่ของจำเลย เมื่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าไม่ต่อสัญญาจ้างโจทก์ตามที่จำเลยเสนอความเห็นซึ่งโจทก์เห็นว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์จึงนำคดีมาฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากเสียชื่อเสียงหรือเกียรติคุณและขาดรายได้จากการที่ไม่ได้รับการต่อสัญญา คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยตามที่จำเลยได้รับมอบหมาย ตามนัยมาตรา ๖ ทวิ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๕๗ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หรือมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ประกอบคำสั่งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (เฉพาะ) ที่ ๓๒๓/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ดังกล่าวข้างต้น คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมิใช่เป็นข้อพิพาท อันเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามนัยมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในขณะนี้โจทก์จะยังมิได้ฟ้องกองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐให้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ถูกต้อง ตามนัยมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็ตาม แต่คดีนี้ก็ยังคงเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อเท็จจริงคดีนี้ ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ยื่นฟ้องจำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักงานผู้บังคับบัญชา กองอำนวยการ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอ้างว่า ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักงานผู้บังคับบัญชา กองอำนวยการ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เสนอความเห็นต่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อขออนุมัติไม่ต่อสัญญาการจ้างลูกจ้างชั่วคราวกับโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการปลอมใบสั่งยาของแพทย์อันเป็นข้อความที่ฝ่าฝืนต่อความจริง จำเลยรู้ว่าโจทก์ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกฎเกล้ามีคำสั่งไม่ต่อสัญญาการจ้างลูกจ้างชั่วคราวกับโจทก์ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้างคือ การเสนอความเห็นของจำเลยต่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าให้เลิกจ้างโจทก์ แม้จำเลยจะเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๖ ทวิ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๕๗ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หรือมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ประกอบคำสั่งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (เฉพาะ) ที่ ๓๒๓/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ก็ตาม แต่การเสนอความเห็นดังกล่าวมิใช่เป็นการสั่งอนุญาตหรือการอนุมัติ อันจะมีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ที่จะถือได้ว่าเป็นคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นเพียงการเตรียมการหรือดำเนินการและเป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วๆ ไปของเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น มิได้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีละเมิดทางแพ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสาวอุฌาวดี วินุราช โจทก์ พลตรี สกล เอี่ยมตระกูล ในฐานะหัวหน้าสำนักงานผู้บังคับบัญชา กองอำนวยการ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share