คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2260/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บิดามารดาปล่อยปละละเลยให้บุตรผู้เยาว์ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั้งๆยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่ถือว่าไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ผู้ปกครองบุตรที่ดีต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการทำละเมิดที่บุตรผู้เยาว์ก่อขึ้นแก่บุคคลอื่นตามป.พ.พ.มาตรา429.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์กับจำเลยที่ 2,ที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทชนนายเวทย์เฟื่องฟูวงศ์ สามีโจทก์ถึงแก่ความตาย
จำเลยทั้งสามให้การว่า ผู้ตายเป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทเองวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เอารถไปโดยพลการ จำเลยที่ 2 และที่ 3ได้ตักเตือนและห้ามปรามการใช้รถและได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 150,000บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฯ ในปัญหาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ในผลของการละเมิดคดีนี้หรือไม่ นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์อยู่ในความปกครองและพักอยู่อาศัยร่วมบ้านเรือนเดียวกับจำเลยที่ 2และที่ 3 ซึ่งมีอาชีพทำไร่ จำเลยที่ 1 ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 1 ขี่รถจักรยานยนต์เป็นก่อนเกิดเหตุประมาณ 3 ปี เคยอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปใช้ได้ แสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1ขับขี่รถจักรยานยนต์มาช้านานแล้วทั้งรู้อยู่ว่าการขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ตลอดทั้งการขับขี่รถจักรยานยนต์นั้นอาจก่ออันตรายแก่ผู้อื่นได้ ดังนี้ต้องฟังว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ผู้ปกครองบุตรที่ดีจึงไม่พ้นที่จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429
ฯลฯ
พิพากษายืน ฯ”.

Share