แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 77มีความว่า เมื่อปรากฏว่านายจ้างได้กระทำการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตามพนักงานตรวจแรงงาน มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจออกคำเตือนให้นายจ้างที่กระทำการฝ่าฝืนนั้น ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ได้
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานออกคำเตือนให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างนำเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายไปจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้าง ณ สถานที่กำหนดภายใน 7 วัน เป็นการให้โจทก์ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเป็นเพียงการชี้แนะเพื่อจะระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1ที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างเท่านั้น มิใช่เป็นคำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดที่กฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องปฏิบัติตาม ถ้าโจทก์เห็นว่าคำเตือนนั้นไม่ถูกต้องจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ และการไม่ปฏิบัติตามคำเตือนในกรณีนี้ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดทางอาญา คำเตือนดังกล่าวจึงไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกคำเตือนแก่โจทก์จึงไม่เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ขอให้เพิกถอนคำเตือนที่ 50/2542 ของจำเลยที่ 2 และที่ 3ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับเงินจำนวน 49,200 บาท จากโจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล
จำเลยที่ 1 ให้การว่า คำเตือนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่พิพาทในคดีนี้ไม่ได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด และไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นการใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริตขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ 50/2542 เนื่องจากเป็นการออกคำเตือนแก่โจทก์ โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 77 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมีผลเพียงเป็นการชี้แนะของเจ้าหน้าที่เพื่อระงับข้อพิพาท มิใช่คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดที่กฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 124 คำเตือนดังกล่าวจึงไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ 50/2542 หรือไม่ เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 77 บัญญัติว่า”เมื่อปรากฏว่านายจ้างฝ่าฝืนประกาศนี้ พนักงานตรวจแรงงานอาจให้คำเตือนเพื่อให้นายจ้างปฏิบัติการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำเตือนเสียก่อนก็ได้” บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า เมื่อปรากฏว่านายจ้างได้กระทำการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจออกคำเตือนให้นายจ้างที่กระทำการฝ่าฝืนนั้นปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ได้ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานออกคำเตือนให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างนำเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายไปจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้าง ณ สถานที่กำหนดภายใน 7 วัน จึงเป็นการให้โจทก์ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน อันเป็นการออกคำเตือนตามข้อ 77 ของประกาศดังกล่าวนั่นเอง ซึ่งเป็นเพียงการชี้แนะของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อโจทก์เพื่อจะระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างเท่านั้นคำเตือนดังกล่าวมิใช่เป็นคำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดที่กฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องปฏิบัติตาม ถ้าโจทก์เห็นว่าคำเตือนนั้นไม่ถูกต้องจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ และการไม่ปฏิบัติตามคำเตือนในกรณีนี้ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดทางอาญาแต่อย่างใดคำเตือนดังกล่าวจึงไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกคำเตือนแก่โจทก์จึงไม่เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ 50/2542
พิพากษายืน