คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ได้ออกหนังสือค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคาก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ขอรับเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโจทก์ในการยื่นซองประกวดราคาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ไม่สามารถเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้แล้วจำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ชำระเงินค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 หนังสือค้ำประกันฉบับนี้มีกำหนดอายุค้ำประกัน120 วัน โดยโจทก์จะต้องแจ้งการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ทราบภายในกำหนดดังกล่าวด้วย ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ยอมไปทำสัญญาก่อสร้างกับโจทก์ตามที่ยื่นซองประกวดราคาได้ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ที่ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้ยกข้อต่อสู้ในข้อที่โจทก์ไม่ได้บอกเรื่องจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกวดราคา ให้จำเลยที่ 3 ทราบภายในระยะเวลาที่ค้ำประกันเพียงแต่ขอให้ไปเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ก่อนก็ตามก็ไม่เป็นการสละข้อต่อสู้ในเรื่องระยะเวลาค้ำประกันดังนั้น ภายหลังเมื่อถูกโจทก์ฟ้องแล้ว จำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิให้การต่อสู้คดีโดยยกข้อต่อสู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่รวมทั้งเหตุดังกล่าวขึ้นเป็นข้อเถียงเพื่อปฏิเสธความรับผิดของตนได้ เมื่อจำเลยที่ 3 ได้ยกเหตุดังกล่าวให้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้วและข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบภายในกำหนดระยะเวลาที่ค้ำประกันว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกวดราคาต่อโจทก์ โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยที่ 3 รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ประกาศเรียกประกวดราคางานก่อสร้างอาคารที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข โรงรถชั้นเดียว ถมดิน พร้อมรั้วและลานคอนกรีต เมื่อโจทก์ตกลงเลือกผู้เข้าประกวดราคารายใดให้เป็นผู้รับจ้างและนัดให้ไปทำสัญญาแล้ว ผู้ถูกเลือกจะต้องไปทำสัญญาภายในกำหนด หากไม่ยอมไปทำสัญญาโจทก์จะริบเงินมัดจำซองทั้งหมด และหากปรากฏว่าโจทก์ต้องจ่างผู้อื่นแพง กว่าราคาที่เสนอไว้รวมกับเงินประกันที่ยึดไว้ผู้เสนอราคาต้องชดใช้ราคาส่วนที่เกิดด้วย จำเลยที่ 1 ได้ยื่นซองประกวดราคาต่อโจทก์เสนอเงินค่าก่อสร้าง 2,840,242.30 บาท โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการประกวดราคากับโจทก์ว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขในการยื่นซองประกวดราคาเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย และโจทก์ไม่สามารถเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 3 รับเป็นผู้ชำระเงินค่าเสียหายแทนในวงเงินไม่เกิน 143,700บาท ต่อมาโจทก์ได้พิจารณาให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชนะการประกวดราคาได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 มาทำสัญญากับโจทก์ในวันที่ 21กันยายน 2521 ต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2521 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือขอผัดการลงนามในสัญญาก่อสร้างภายในวันที่ 13 ตุลาคม 2521ครบกำหนดตามที่ขอจำเลยที่ 1 ก็มิได้มาลงนามในสัญญา โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบ และขออายัดเงินประกันซอง จำนวน 143,700 บาทตามสัญญาค้ำประกัน ครั้นวันที่ 27 เมษายน 2522 โจทก์มีหนังสือแจ้งยกเลิกการว่าจ้างไปยังจำเลยที่ 1 และขอริบเงินประกันซองจำนวน 143,700 บาท และขอสงวนสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอื่น ๆอันอาจจะพึงมีตามภาระผูกพันที่มีต่อกันด้วย โจทก์ได้จ้างนายเชื้อ คชานุรักษ์ ให้เป็นผู้ทำการก่อสร้างใหม่ในราคา4,290,000 บาท จนแล้วเสร็จ โจทก์ได้รับความเสียหายจะต้องจ่ายเงินสูงกว่าจำนวนที่จำเลยที่ 1 เสนอราคา 1,449,757.70 บาทขอให้จำเลยทั้งสามที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า การที่โจทก์จ้างให้นายเชื้อ คชานุรักษ์ ค้ำประกันที่ทำไว้ให้กับโจทก์ เพราะตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 3 คชานุรักษ์ ตามลำพัง โดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ เป็นความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นด้วยไม่ใช่ผลจากการกระทำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ให้กับโจทก์ เพราะตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 3ต้องรับผิดต่อโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2521 ถึงวันที่20 ตุลาคม 2521 เท่านั้น ตามสัญญาค้ำประกันโจทก์จะต้องแจ้งการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ทราบก่อนหมดระยะเวลาค้ำประกันโจทก์เพียงแต่โทรเลขแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ไปทำสัญญาให้เรียบร้อยจึงขออายัดเงินตามหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 ไว้ก่อนเท่านั้นยังไม่มีการแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกวด ราคากับโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะขออายัดเงินตามโทรเลข เพราะไม่มีการวางหลักทรัพย์ประกันไว้กับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน710,060.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้จากคำฟ้อง คำให้การและพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่นำสืบว่า โจทก์ได้ประกาศเรียกประกวดราคาก่อสร้างอาคารที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขและโรงรถที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ตามประกาศเรียกประกวดราคาเอกสารหมาย จ.3 โดยกำหนดเงื่อนไขในการประกวดราคาตามเอกสารหมาย จ.5วันที่ 21 มิถุนายน 2521 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ยื่นใบประกวดราคาในนามของจำเลยที่ 1 เสนอค่าก่อสร้างราคา 2,840,242.30 บาท โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคาจำนวนเงิน 143,700 บาท ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 วันที่ 14 กันยายน 2521 โจทก์มีหนังสือให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์ตกลงรับราคาที่จำเลยที่ 1 เสนอ ให้จำเลยที่ 1 ไปจัดทำสัญญาก่อสร้างดังกล่าวในวันที่ 21 กันยายน 2521ตามเอกสารหมาย จ.8 จำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 15 กันยายน 2521ถึงผู้อำนวยการก่อสร้างบำรุงรักษาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะลงนามในสัญญาวันที่ 13 ตุลาคม 2521 และขอต่อสัญญาก่อสร้างอีก 90 วันตามเอกสารหมาย จ.41 ถึงกำหนดวันที่ 13 ตุลาคม 2521 จำเลยที่ 1ไม่ไปลงนามในสัญญา โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 20 ตุลาคม 2521 ให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาในวันที่ 30 ตุลาคม 2521 ตามเอกสารหมาย จ.21แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ไปทำสัญญา โจทก์ได้มีหนังสือและโทรเลขแจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาในวันอื่นอีกหลายครั้ง แต่จำเลยที่ 1ก็ขอผัดผ่อนการลงนามในสัญญาไปอีก ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2522 ขอปรับปรุงเพิ่มราคาค่าก่อสร้างเป็นเงิน 3,550,302.50 บาท โดยอ้างว่าวัสดุก่อสร้างมีราคาสูงขึ้นตามเอกสารหมาย จ.39 โจทก์ได้มีหนังสือตอบปฏิเสธไปในที่สุดโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 27 เมษายน 2522 ถึงจำเลยที่ 1 ขอยกเลิกการตกลงว่าจ้าง และขอริบเงินประกันซองประกวดราคาจำนวน143,700 บาท ทั้งขอสงวนสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอื่นอันจะพึงมีตามภาระผูกพันที่มีต่อกัน ตามเอกสารหมาย จ.29 จำเลยที่ 1มีหนังสือตอบมาว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจทำสัญญากับโจทก์ได้เพราะเหตุสุดวิสัยจึงขอเลิกสัญญาและปฏิเสธว่าโจทก์ริบเงินมัดจำไม่ได้ตามเอกสารหมาย จ.42 ภายหลังโจทก์ได้เรียกประกวดราคาใหม่ในวันที่ 21 มิถุนายน 2522 แต่เมื่อถึงกำหนดไม่มีผู้มายื่นซองประกวดราคา โจทก์จึงให้ดำเนินการจ้างโดยวิธีพิเศษตามระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.48 ในการดำเนินการจ้างโดยวิธีพิเศษมีผู้เสนอราคารวม 5 ราย นายเชื้อ คชานุรักษ์เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นเงิน 4,290,000 บาท คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคามีความเห็นว่าราคาสูงไป เห็นสมควร ยกเลิกการสืบราคาตามเอกสารหมาย จ.56 แต่ในที่สุดผู้ว่าการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้อนุมัติให้ว่าจ้างนายเชื้อเป็นผู้ทำการก่อสร้างในราคาดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.50 นายเชื้อได้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเสร็จไปแล้ว โจทก์ต้องจ่ายเงินค่าก่อสร้างเพิ่มมากกว่าราคาที่จำเลยที่ 1 ประมูลได้จำนวน 1,449,757.70 บาทปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เพียงใดและจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่
ในปัญหาว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เพียงใด ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เห็นด้วยกับที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 รับผิดในราคาค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่จำเลยที่ 1 ประมูลได้เป็นเงิน710,060.20 บาท โดยนำราคาค่ารับจ้างที่จำเลยที่ 1 เสนอในการยื่นซองประกวดราคา (2,840,242.30 บาท) ไปหักออกจากราคาค่ารับจ้างที่จำเลยที่ 1 ขอปรับปรุงและเสนอต่อโจทก์(3,550,302.50 บาท) โจทก์ฎีกาว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ละทิ้งงานไม่ไปทำสัญญาตามที่ประกวดราคาได้ โจทก์ได้จ้างนายเชื้อ คชานุรักษ์ก่อสร้างอาคารของโจทก์ในราคา 4,290,000 บาท โดยการใช้วิธีพิเศษตามระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.48 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินส่วนที่โจทก์ต้องจ้างผู้อื่นแพงกว่าเป็นเงิน 1,449,757.70 บาท ตามเงื่อนไขในการประกวดราคาเอกสารหมาย จ.5 พิเคราะห์แล้ว ตามเงื่อนไขในการประกวดราคาข้อ 5.4 ตามเอกสารหมาย จ.5 ระบุว่า เมื่อการสื่อสารแห่งประเทศไทยตกลงเลือกผู้เข้าประกวดราคารายใดให้เป็นผู้รับจ้างและนัดให้ไปทำสัญญาแล้ว ผู้ถูกเลือกจะต้องไปทำสัญญาภายในกำหนด ฯลฯ หากผู้ที่ถูกเลือกให้เป็นผู้รับจ้างรายใดบิดพลิ้วไม่ยอมไปทำสัญญาด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม การสื่อสารแห่งประเทศไทยจะริบเงินมัดจำซองที่ได้ยื่นไว้ทั้งหมดและหากปรากฏว่าการสื่อสารแห่งประเทศไทยต้องจ้างงานรายนี้จากผู้อื่นแพงกว่าราคาที่เสนอไว้รวมกับเงินประกันที่ยึดไว้แล้ว ผู้เสนอราคายินยอมที่จะชดใช้ราคาในส่วนที่เกินนั้นด้วย เห็นว่า ตามเงื่อนไขในการประกวดราคาดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดเจนว่าให้ผู้เข้าประกวดราคา ซึ่งในที่นี้หมายถึงจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องจ้างผู้อื่นทำงานนี้ในราคาสูงกว่าที่ผู้เข้าประกวดราคาเสนอราคา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมไปทำสัญญาก่อสร้างกับโจทก์ตามที่ยื่นซองประกวดราคาได้ ทำให้โจทก์ต้องว่าจ้างนายเชื้อก่อสร้างอาคารของโจทก์ในราคา4,290,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่จำเลยที่ 1 ประมูลได้เป็นเงิน1,449,757.70 บาท จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1131/2520 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย โจทก์นายฉลอง สุวรรณมงคล โดยนายวนิช สุวรรณมงคล ผู้รับมรดกความจำเลย…
ปัญหาต่อไป จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้แย้งกันแล้วฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ได้ออกหนังสือค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคาของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ไว้ตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งมีใจความว่า จำเลยที่ 3 ขอรับเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโจทก์ในการยื่นซองประกวดราคาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ไม่สามารถเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้แล้ว จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ชำระเงินค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ภายในวงเงินไม่เกิน 143,700 บาท หนังสือค้ำประกันฉบับนี้มีกำหนดอายุค้ำประกัน 120 วัน นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน2521 จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2521 โดยโจทก์จะต้องแจ้งการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ให้ จำเลยที่ 3 ทราบภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2521ด้วย ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ว่า ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 ได้กำหนดระยะเวลาค้ำประกันไว้ 120 วัน นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2521 ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2521 ทั้งโจทก์ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบ (เรื่องของจำเลยที่ 1) ผิดสัญญาภายในอายุการค้ำประกันด้วย เมื่อโจทก์ลงหนังสือลงวันที่ 27เมษายน 2522 ตามเอกสารหมาย จ.36 ถึงจำเลยที่ 3 แจ้งว่าโจทก์ยกเลิกการจ้างจำเลยที่ 1 นั้นล่วงเลยเวลาที่จำเลยที่ 3 ต้องผูกพันตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฝ่ายโจทก์ฎีกาว่า เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ที่ค้ำประกันซองประกวดราคาเป็นเงิน143,700 บาท จำเลยที่ 3 มิได้ปฏิเสธการจ่ายเงินค่าเสียหายตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน เพียงแต่ขอให้ไปเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ก่อน ส่วนที่เหลือจำเลยที่ 3 จะจ่ายเงินให้โจทก์ต่อไป พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวเป็นการสละข้อต่อสู้เรื่องอายุความ (ที่ถูกเป็นระยะเวลาค้ำประกัน) ตามสัญญาค้ำประกันแล้ว พิเคราะห์แล้วฎีกาของโจทก์มีความหมายว่า เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ที่ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ยกข้อต่อสู้ที่โจทก์ไม่ได้บอกเรื่องจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกวดราคาให้จำเลยที่ 3 ทราบภายในระยะเวลาที่ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ย่อมไม่อาจยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นให้การต่อสู้คดีได้เห็นว่าภายหลังเมื่อถูกโจทก์ฟ้องคดีแล้ว จำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิให้การต่อสู้คดีโดยยกข้อต่อสู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นข้อเถียงเพื่อปฏิเสธความรับผิดของตนได้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบภายในกำหนดระยะเวลาที่ค้ำประกันว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกวดราคาต่อโจทก์ โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยที่ 3รับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสาร หมาย จ.7”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 1,449,757.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share