คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2247/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมมิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นก่อนวันที่ 22 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาคดีนี้ และเหตุผลที่โจทก์ร่วมอ้างในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ก็มิใช่เป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยที่โจทก์ร่วมจะขอยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 นอกจากนี้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นของโจทก์และโจทก์ร่วมนั้นเป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละฝ่าย โจทก์และโจทก์ร่วมต่างมีอิสระในการยื่นอุทธรณ์ต่างหากจากกัน โจทก์ร่วมจะถือคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นสุดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตไว้มาเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมด้วยหาได้ไม่ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ร่วมขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามคำร้องของโจทก์ร่วมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเป็นอุทธรณ์ที่มิได้ยื่นภายในกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ เป็นอุทธรณ์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไว้วินิจฉัย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่มีผลบังคับแก่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 362, 365
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสุนี ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ประกอบมาตรา 362 จำคุกคนละ 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 เดือน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถึงแก่ความตาย โจทก์รับว่าเป็นความจริง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้โจทก์และโจทก์ร่วมฟังเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2546 โจทก์และโจทก์ร่วมมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้ฟัง คือภายในวันที่ 22 มกราคม 2547 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์โดยอ้างว่าโจทก์ร่วมปรึกษากับโจทก์แล้วได้ความว่าโจทก์ไม่ยื่นอุทธรณ์และโจทก์ร่วมเพิ่งจะแต่งทนายความในวันดังกล่าว ทนายความของโจทก์ร่วมไม่อาจเรียบเรียงสำนวนเพื่อยื่นอุทธรณ์ได้ทัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาให้โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 19 มีนาคม 2547 โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในวันที่ 19 มีนาคม 2547 เห็นว่า โจทก์ร่วมมิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นก่อนวันที่ 22 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาคดีนี้ และเหตุผลที่โจทก์ร่วมอ้างในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามคำร้องลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 ก็มิใช่เป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยที่โจทก์ร่วมจะขอยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นอกจากนี้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นของโจทก์และโจทก์ร่วมนั้นเป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละฝ่าย โจทก์และโจทก์ร่วมต่างมีอิสระในการยื่นอุทธรณ์ต่างหากจากกัน โจทก์ร่วมจะถือเอาคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นสุดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตไว้มาเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมด้วยหาได้ไม่ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ร่วมขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามคำร้องของโจทก์ร่วมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเป็นอุทธรณ์ที่มิได้ยื่นภายในกำหนดระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ เป็นอุทธรณ์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไว้วินิจฉัย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไว้วินิจฉัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่มีผลบังคับแก่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 และยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share