แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินอันตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงแต่ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 โดยจำเลยยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเช่นเดิม เพียงแต่มาตรา 1390 ห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเท่านั้น การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยต่อไป การที่ศาลชั้นต้นห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับทางดังกล่าวจึงมิชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและรั้วลวดหนามและห้ามจำเลยและบริวารปิดกั้นทางดังกล่าว กับให้ไปจดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมกว้าง 2 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินของจำเลย มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินทางภาระจำยอมอีกต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนให้ที่ดินของจำเลยตามโฉนดที่ดินเลขที่ 55872 ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้านทิศใต้กว้าง 2 เมตร จากแนวเขตและยาวตลอดที่ดินเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 108980 ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ปิดกั้นทางและห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวอีก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า เดิมนายนกเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 1345/22 หมู่ที่ 4 ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 37 ตารางวา ทิศใต้จดที่ดินของนางเจือ ต่อมานายนกถึงแก่ความตายที่ดินแปลงนี้ตกแก่ทายาทของนายนก 4 คน คือ 1. นายอำนวย 2. นางอนงค์หรือนงค์หรือเอียด 3. นางจำเนียร และ 4. นางปราณี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2526 ทายาททั้งสี่แบ่งแยกที่ดินกันโดยแบ่งที่ดินทางด้านทิศเหนือ 2 ไร่ 3 งาน 35 ตารางวา ให้นายอำนวย ส่วนที่ดินทางทิศใต้แบ่งออกเป็น 3 แปลง แปลงแรกอยู่ติดกับถนนสาธารณะสายนครศรีธรรมราช – พรหมคีรี ซึ่งมีบ้านของนายนกอยู่ในที่ดินแบ่งให้นางปราณี แปลงที่สองแบ่งให้นางจำเนียร และแปลงที่สามแบ่งให้นางนงค์ หลังจากนางนงค์ได้รับที่ดินมาแล้วได้ปลูกสร้างบ้านในที่ดิน ต่อมาปี 2531 นางนงค์แบ่งที่ดินบางส่วนเนื้อที่ 1 งาน 18 ตารางวา กับบ้านขายให้โจทก์ แล้วโจทก์ได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปออกโฉนดที่ดินเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 108980 เลขที่ดิน 80 ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช สำหรับที่ดินของนางปราณีนั้นต่อมาออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 55872 เลขที่ดิน 28 ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช นางปราณีโอนขายที่ดินแปลงนี้พร้อมบ้านให้นางจำเนียร และในปี 2534 นางจำเนียรโอนขายต่อให้จำเลย ส่วนที่ดินของนางจำเนียรอีกแปลงหนึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ นางจำเนียรโอนขายให้นายธัชชัยและนายธัชชัยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปออกโฉนดที่ดินเป็นโฉนดเลขที่ 74563 เลขที่ดิน 59 ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาปี 2547 จำเลยถมดินในที่ดินของจำเลยรวมทั้งทางพิพาทบางส่วน คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างเหตุว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมเพราะทายาทของนายนกตกลงกันให้ทางดังกล่าวเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงที่โจทก์ซื้อต่อมาจากนางนงค์ ข้อตกลงนี้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อจำเลยรับโอนที่ดินจากนางจำเนียร จำเลยก็ยอมรับเกี่ยวกับทางภาระจำยอมดังกล่าว จำเลยให้การว่า ทางเดินตามที่ทายาทของนายนกตกลงกันนั้นอยู่ทางทิศใต้ของที่ดินของนายอำนวยซึ่งได้รับส่วนแบ่งมากที่สุด ส่วนทางพิพาทที่โจทก์ฟ้องเป็นทางที่โจทก์ขออนุญาตจำเลยใช้เดินผ่านออกสู่ถนนสาธารณะ และโจทก์เริ่มขออนุญาตเดินผ่านเมื่อปี 2539 เมื่อนับถึงวันฟ้องจึงยังไม่ครบ 10 ปี เห็นว่า ตามคำให้การจำเลยเท่ากับจำเลยยอมรับแล้วว่ามีข้อตกลงระหว่างทายาทของนายนก จำเลยเพียงแต่ต่อสู้ว่า ทางที่ทายาทนายนกตกลงกันนั้นอยู่ในส่วนอื่น คดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า ทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะที่ทายาทนายนกตกลงกันนั้นอยู่ทางทิศใต้ริมที่ดินของจำเลยที่ติดต่อกับที่ดินของนางเจือตามที่โจทก์ฟ้อง หรืออยู่ทางทิศใต้ของที่ดินของนายอำนวยตามแผนที่สังเขปประกอบแผนที่วิวาท คดีไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 หรือไม่ โจทก์ได้ทางพิพาทเป็นภาระจำยอมโดยอายุความตามมาตรา 1401 หรือไม่ และข้อตกลงเกี่ยวกับทางเดินที่โจทก์อ้างว่าทายาทของนายนกได้ตกลงกันไว้นั้นบริบูรณ์ตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง หรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยว่า ทางที่โจทก์ฟ้องเป็นทางจำเป็นอันเป็นภาระจำยอมโดยผลของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ประกอบมาตรา 1387 และแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเกิดจากข้อตกลงในระหว่างทายาทของนายนก เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นเพียงบุคคลสิทธิ แต่นางนงค์กับโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทสืบต่อมาจนกลายเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความแล้วก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปกว่าประเด็นที่คู่ความพิพาทกัน ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อข้อตกลงระหว่างทายาทของนายนกเป็นข้อตกลงที่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับระหว่างทายาทของนายนกเท่านั้น และเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกซื้อที่ดินจากนางนงค์ โจทก์จึงไม่อาจสืบสิทธิใช้ทางเดินเยี่ยงภาระจำยอมได้อีกต่อไป โจทก์จะได้ภาระจำยอมในทางพิพาทหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าโจทก์ได้เดินผ่านหรือใช้ที่ดินของจำเลยมาครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในการได้ภาระจำยอมหรือไม่ หรือที่ฎีกาว่า หากโจทก์ได้ภาระจำยอมแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะต้องไปขออนุญาตเดินผ่านที่ดินของนายธัชชัย และขอใช้ทางเดินบริเวณริมที่ดินของจำเลยอีก ดังที่โจทก์และนายธัชชัยเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้าน ดังนั้น การขอใช้ทางเดินจากจำเลยและขออนุญาตเดินผ่านที่ดินของนายธัชชัยจึงมิใช่เป็นการใช้ทางพิพาทอย่างเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินโดยชัดแจ้ง หรือที่ฎีกาว่า โจทก์ซื้อที่ดินเมื่อปี 2531 ต่อมาปี 2534 จำเลยซื้อที่ดินจากนางจำเนียร หลังจากนั้นโจทก์ขอใช้ทางจากจำเลย แต่โจทก์มิได้นำสืบว่า โจทก์เริ่มเปลี่ยนลักษณะการใช้ทางพิพาทอย่างปรปักษ์โดยชัดแจ้งตั้งแต่เมื่อใดนั้น เห็นว่า ล้วนเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะไม่ชอบดังกล่าว กรณีก็ไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษาใหม่ เพราะคดีนี้มิได้มีข้อต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียว
เมื่อปรากฏว่า มีทางพิพาทอยู่ทางทิศใต้ของที่ดินของจำเลยด้านที่ติดต่อกับที่ดินของนางเจือตามที่โจทก์นำสืบ และศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมา แม้จำเลยจะมีนางปราณีเป็นพยานเบิกความว่า ทายาทตกลงกันให้ใช้ทางออกระหว่างที่ดินของนายอำนวยกับที่ดินของแต่ละคน แต่นางจำเนียรพยานจำเลยอีกคนหนึ่งก็มิได้เบิกความถึงเรื่องนี้รวมถึงตัวจำเลยเองก็เช่นกัน แต่กลับได้ความจากจำเลยเบิกความว่าทางทิศใต้ของที่ดินที่พยานซื้อจดที่ดินของนางเจือขณะนั้นไม่มีรั้วกั้น ชาวบ้านละแวกนั้นถือวิสาสะเดินผ่านจึงเจือสมพยานโจทก์ แสดงว่ามีทางเดินอยู่ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ทั้งจำเลยเองก็เบิกความตอบทนายโจทก์ยอมรับว่าแผนที่วิวาท เจ้าหน้าที่ได้ทำถูกต้องแล้ว โดยพยานไม่ได้ชี้ให้เจ้าหน้าที่ที่ดินทำรูปแผนที่ทางเดินอื่นที่นางนงค์หรือโจทก์สามารถใช้เป็นทางออกได้ จำเลยจึงไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ว่า มีทางเดินอยู่ในบริเวณทิศใต้ของที่ดินของนายอำนวยตามที่ให้การต่อสู้ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่า ทางที่ทายาทของนายนกตกลงกันให้เป็นทางภาระจำยอมนั้นอยู่ทางทิศใต้ริมที่ดินของจำเลยที่ติดต่อกับที่ดินของนางเจือ
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับทางดังกล่าวอีก ซึ่งจำเลยได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ด้วย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินอันตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นเป็นที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย หาใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ไม่ เพียงแต่ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 โดยจำเลยยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเช่นเดิม เพียงแต่มาตรา 1390 บัญญัติว่า ท่านมิให้เจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเท่านั้น การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยต่อไป ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับทางดังกล่าวอีกจึงมิชอบด้วยกฎหมาย เห็นสมควรยกคำขอดังกล่าว
พิพากษายืน แต่ให้ยกคำขอที่ขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับทางพิพาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ