คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หลังจากจำเลยยื่นฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้องและขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา แต่ในคำร้องขอให้การรับสารภาพมีข้อความว่า มูลเหตุที่จำเลยกระทำความผิดเกิดขึ้นเนื่องจากจำเลยย้ายสถานที่ทำงานใหม่และเป็นหน่วยงานใหม่ จึงเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิเบิกเงินเดือนได้ในที่ทำงานใหม่ และไม่ทราบว่าสามีจำเลยเบิกเงินเดือนของจำเลยจากที่ทำการปกครองจังหวัดขอนแก่นด้วย จึงเท่ากับจำเลยยังปฏิเสธต่อสู้คดีอยู่ และไม่อาจถือว่าการที่จำเลยยื่นคำร้องนี้เป็นการยื่นคำร้องขอถอนฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 202 ประกอบมาตรา 225
พ.ร.ฎ.ระเบียนพนักงานส่วนตำบล พ.ศ.2539 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การโอนข้าราชการ…มาบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบลอาจทำได้ถ้าเจ้าตัวสมัครใจโดยองค์การบริหารส่วนตำบลที่จะรับโอนทำความตกลงกับ…หรือหน่วยงานต้นสังกัดแล้วรายงานประธาน อ.ก.ท. จังหวัดเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นไปยัง ก.ท. เมื่อ ก.ท. อนุมัติแล้ว ให้โอนและบรรจุได้ ทั้งนี้จะบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับใดและจะรับเงินเดือนเท่าใดให้ ก.ท. เป็นผู้พิจารณากำหนด…” แสดงว่าการจะรับโอนบรรจุและแต่งตั้งจำเลยให้ดำรงตำแหน่งใดและรับเงินเดือนเท่าใดในองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระต้องให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาง (ก.ท.) เป็นผู้อนุมัติและพิจารณา ดังนี้ เมื่อยังไม่มีหนังสือแจ้งการรับโอนจากคณะกรรมการพนักงานเทศบาล จำเลยจึงยังคงดำรงตำแหน่งเดิมอยู่ที่ทำการปกครองอำเภอหนองเรือ เพียงแต่ถูกยืมตัวไปปฏิบัติหน้าที่โดยยังไม่ขาดจากต้นสังกัดเดิม
จำเลยมาช่วยราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ โดยยังไม่ขาดจากตำแหน่งเดิมที่อำเภอหนองเรือ จึงต้องรับเงินเดือนจากต้นสังกัดเดิม กลับตั้งฎีกาเบิกเงินเดือนของจำเลย ณ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระอีก อันเป็นการเบิกซ้ำซ้อนรวม 7 เดือน แล้วเบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตน การกระทำของจำเลยเข้าลักษณะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์แล้วเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 3 สังกัดที่ทำการปกครองอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น จำเลยได้รับคำสั่งให้มาช่วยราชการในตำแหน่งหัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2539 มีหน้าที่จัดทำเอกสารเบิกจ่ายเงิน ทำฎีกาเบิกเงินเดือนและการจ่าย ตลอดจนการดูแลรักษาในเรื่องเกี่ยวกับการเงินในองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ ซึ่งในระหว่างที่ไปช่วยราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ จำเลยยังคงรับเงินเดือนจากสังกัดเดิม โดยจำเลยมอบฉันทะให้นายบวร สามีรับเงินเดือนแทนจำเลยจากที่ทำการปกครองจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2539 เป็นต้นไป เป็นเงินเดือนละ 9,450 บาท ในขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2539 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 วันที่ 27 ธันวาคม 2539 วันที่ 30 มกราคม 2540 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 วันที่ 31 มีนาคม 2540 และวันที่ 30 เมษายน 2540 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานทราบดีอยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ เนื่องจากได้มอบฉันทะให้ผู้มีชื่อรับเงินเดือนจากต้นสังกัดเดิมแทนตน ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตจัดทำฎีกาเบิกเงินเดือนของจำเลยในเดือนต่างๆ ดังกล่าวรวม 7 เดือน เดือนละ 9,450 บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ รวมเป็นเงิน 66,150 บาท แล้วเบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จำเลยคืนเงินจำนวน 66,150 บาท ให้องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยความผิดแต่ละกระทงให้ลงโทษตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นโทษบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 7 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 35 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกมีกำหนด 23 ปี 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เพียงบทเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้หลังจากจำเลยยื่นฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้องและขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา แต่ในคำร้องขอให้การรับสารภาพในข้อ 2 มีข้อความว่า มูลเหตุที่จำเลยกระทำความผิดเกิดขึ้นเนื่องจากจำเลยย้ายสถานที่ทำงานใหม่และเป็นหน่วยงานใหม่ จึงเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิเบิกเงินเดือนได้ในที่ทำงานใหม่ และไม่ทราบว่าสามีจำเลยเบิกเงินเดือนของจำเลยจากที่ทำการปกครองจังหวัดขอนแก่นด้วย จึงเท่ากับจำเลยยังปฏิเสธต่อสู้คดีอยู่ และไม่อาจถือว่าการที่จำเลยยื่นคำร้องนี้เป็นการยื่นคำร้องขอถอนฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 202 ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไป คดีนี้ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 3 สังกัดที่ทำการปกครอง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น วันที่ 24 มิถุนายน 2539 จำเลยทำคำร้องถึงประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ขอโอนมาเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นพนักงานส่วนตำบลในตำแหน่งหัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ เอกสารหมาย ล.1 วันที่ 15 กรกฎาคม 2539 ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการปกครองเพื่อขอให้พิจารณาในการโอนดังกล่าวตามเอกสารหมาย ล.3 วันที่ 26 กรกฎาคม 2539 อธิบดีกรมการปกครองมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นไม่ขัดข้องในการที่จำเลยขอโอนไปดำรงตำแหน่งที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 3 วันที่ 16 สิงหาคม 2539 นายอำเภอเมืองขอนแก่นทำหนังสือแจ้งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระว่ากรมการปกครองอนุมัติให้จำเลยโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระได้ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2539 เป็นต้นไป และในวันเดียวกันองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระได้ออกคำสั่งที่ 20/2539 ให้รับโอนจำเลยบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบลและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนการคลังระดับ 3 งานบริหารการเงินและบัญชี สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 6 ในวันที่ 1 กันยายน 2539 นายอำเภอหนองเรือต้นสังกัดที่จำเลยรับราชการได้กำหนดส่งตัวจำเลยให้มารับตำแหน่งที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2539 เป็นต้นไปตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 4 แต่เนื่องจากการทำเรื่องรับโอนจำเลยมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนการคลังในองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระดังกล่าวยังไม่ได้รับแจ้งการรับโอนจากคณะกรรมการพนักงานเทศบาล ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น จึงทำหนังสือขอยืมตัวจำเลยมาช่วยราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระเป็นการชั่วคราวโดยไม่ขาดจากต้นสังกัดเดิมไปพลางก่อน และได้รับอนุญาตจากจังหวัดขอนแก่นแล้วตามเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาระหว่างที่จำเลยช่วยราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ จำเลยได้ตั้งฎีกาเบิกเงินเดือนของจำเลยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2539 ถึงเดือนเมษายน 2540 ตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.9 โดยขณะเดียวกันจำเลยได้ทำหนังสือมอบฉันทะให้นายบวรสามีจำเลยรับเงินเดือนและเงินอื่นจากทางราชการ ณ ที่ทำการปกครองจังหวัดขอนแก่นแทนจำเลยตามเอกสารหมาย จ.18 และในช่วงเดือนตุลาคม 2539 ถึงเดือนเมษายน 2540 นายบวรได้ตั้งฎีกาเบิกเงินเดือนของจำเลยและได้รับเงินดังกล่าวจากทางราชการไปแล้ว การเบิกเงินเดือนทั้งสองแห่งดังกล่าวจึงซ้ำซ้อนกัน ต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือส่งเงินเดือนที่เบิกจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระคืนให้ราชการแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานส่วนตำบล พ.ศ.2539 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การโอนข้าราชการ… มาบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบลอาจทำได้ถ้าเจ้าตัวสมัครใจโดยองค์การบริหารส่วนตำบลที่จะรับโอนทำความตกลงกับ…หรือหน่วยงานต้นสังกัดแล้วรายงานประธาน อ.ก.ท. จังหวัดเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นไปยัง ก.ท. เมื่อ ก.ท. อนุมัติแล้ว ให้โอนและบรรจุได้ ทั้งนี้จะบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับใดและจะรับเงินเดือนเท่าใดให้ ก.ท. เป็นผู้พิจารณากำหนด…” แสดงว่าการจะรับโอนบรรจุและแต่งตั้งจำเลยให้ดำรงตำแหน่งใดและรับเงินเดือนเท่าใดในองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระต้องให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาล (ก.ท.) เป็นผู้อนุมัติและพิจารณา ดังนี้ เมื่อยังไม่ปรากฏว่ามีหนังสือแจ้งการรับโอนจากคณะกรรมการพนักงานเทศบาล จำเลยจึงยังคงดำรงตำแหน่งเดิมอยู่ที่ที่ทำการปกครองอำเภอหนองเรือ เพียงแต่ถูกยืมตัวไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระโดยยังไม่ขาดจากต้นสังกัดเดิม แม้จำเลยตั้งฎีกาเบิกจ่ายเงินเดือนของจำเลยที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระและผ่านการตรวจสอบจากนายวีรชาติ และนายชูชัย ปลัดและประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ แต่ตามฎีกาเบิกเงินตามงบประมาณเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.9 ปรากฏลายมือชื่อจำเลยผู้เบิกและในตำแหน่งหัวหน้าส่วนการคลังที่ได้ขอโอนไปช่วยราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ จึงต้องถือว่าจำเลยซึ่งรับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีมานานถึง 17 ปี ทราบระเบียบปฏิบัติด้านการเงินอย่างดี การที่จำเลยตั้งฎีกาเบิกจ่ายเงินเดือนของจำเลยที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระทั้งที่ทราบว่าจำเลยยังมีตำแหน่งเดิมอยู่ที่ที่ทำการปกครองอำเภอหนองเรือ และจะต้องรับเงินเดือนที่ที่ทำการปกครองอำเภอเมืองขอนแก่น แสดงว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตในการรับเงินเดือนที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระแล้ว ประกอบกับใบมอบฉันทะเอกสารหมาย จ.18 ระบุว่า วันที่ 1 ตุลาคม 2539 จำเลยช่วยราชการองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระมอบฉันทะให้นายบวรเสมียนตราอำเภอรับเงินเดือนและเงินอื่นๆ ที่ได้รับจากทางราชการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2539 เป็นต้นไป ตรงกับคำของนายบวรพยานโจทก์ที่เบิกความว่า จำเลยขอโอนไปรับราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ โดยจำเลยได้มอบฉันทะให้พยานรับเงินเดือนและเงินอื่นๆ แทนตามเอกสารหมาย จ.18 ซึ่งจำเลยและนายบวรต่างทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของราชการมานานหลายปี ย่อมจะทราบและเข้าใจระเบียบวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกเงินจากทางราชการ การที่จำเลยมาช่วยราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระโดยยังไม่ขาดจากตำแหน่งเดิมที่อำเภอหนองเรือ จึงต้องรับเงินเดือนจากต้นสังกัดเดิม กลับตั้งฎีกาเบิกเงินเดือนของจำเลย ณ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระอีก อันเป็นการเบิกซ้ำซ้อนรวม 7 เดือน เป็นเงิน 66,150 บาท แล้วเบียดบังไปเป็นประโยชน์สวนตน การกระทำของจำเลยเข้าลักษณะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์แล้วเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share