คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยมีวัตถุประสงค์ในข้อ (4) คือ การรับ ออก โอนและสลักหลังตั๋วเงินหรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้อย่างอื่น และตามข้อ (35) ประกอบธุรกิจบริการรับค้ำประกันหนี้สิน ความรับผิด และการปฏิบัติตามสัญญาของบุคคลอื่น การที่จำเลยรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งเป็นการค้ำประกันอย่างหนึ่ง จึงเป็นการกระทำตามวัตถุประสงค์ของจำเลย
การออกตั๋วสัญญาใช้เงินและผู้ออกคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นการตกลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968 (1) ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน จึงมิใช่การให้กู้ยืมเงินตามความหมายของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 การที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ก็มิใช่กรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงไม่เป็นโมฆะ
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ลูกหนี้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดจึงไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่
บริษัท ป. ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ เมื่อถึงกำหนดใช้เงินปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้รับชำระเงิน ต่อมาบริษัท ป. ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ การที่โจทก์นำตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 บัญญัติไว้ โจกท์มิได้มอบหรือโอนสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องให้แก่ผู้ใด โจทก์จึงยังคงเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินได้
ในคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ลูกหนี้โจทก์ระบุอัตราดอกเบี้ยที่ขอรับชำระหนี้ไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยในบัญชีแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้ระบุในช่องหมายเหตุว่า ลูกหนี้มิได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ให้เมื่อครบกำหนด แต่ได้มีการตกลงทางวาจาว่า อัตราดอกเบี้ยใหม่จะเป็นร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้นจำเลยผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งจะต้องร่วมรับผิดกับบริษัท ป. ผู้ออกตั๋วแก่โจทก์ จึงต้องรับผิดในต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 3/2541 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2541 จำนวนเงิน 23,000,000 บาท ที่บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด เป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาจะใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ในวันที่ 1 มีนาคม 2542 ณ ที่ทำการของบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด โดยมีบริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) และจำเลยเป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว ในการชำระดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด สั่งจ่ายเช็คจำนวน 4 ฉบับ ชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2542 ให้แก่โจทก์ และโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คได้แล้ว เมื่อถึงกำหนดใช้เงิน โจทก์นำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นให้บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด บริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) และจำเลยชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ ปรากฏว่าไม่ได้รับชำระเงิน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาบริษัทบัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด และบริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ ซึ่งโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 26,962,301.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 23,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดในหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องเพราะกรรมการจำเลยที่อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินกระทำการนอกวัตถุประสงค์ของจำเลย จำเลยไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ใด การอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของกรรมการจำเลยไม่มีผลผูกพันจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 66 เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินแล้ว โจทก์ไม่เคยนำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นต่อบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด บริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) และจำเลยเพื่อให้ใช้เงิน บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด บริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) และจำเลยจึงไม่ได้ผิดนัดต่อโจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องเพราะต้นฉบับตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ได้อยู่ในความครอบครองของโจทก์ โจทก์ได้นำต้นฉบับตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีหมายแดงที่ ลฟ. 8/2542 (ที่ถูกคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.8/2542) ของศาลล้มละลายกลางแล้ว หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงระงับไปแล้วโดยการแปลงหนี้ใหม่ เมื่อโจทก์นำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นขอรับชำระหนี้จากบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ในคดีหมายเลขแดงที่ ลฟ.8/2542 (ที่ถูกคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.8/2542) ของศาลล้มละลายกลาง โดยโจทก์ได้เห็นชอบในแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ที่กำหนดให้โจทก์รับชำระหนี้ตามที่ขอรับชำระหนี้ภายในระยะเวลา 25 ปี หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงระงับไป หนี้ที่แปลงขึ้นมาใหม่ขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปอีกและยังไม่ถึงกำหนดชำระ จำเลยไม่ต้องรับผิดในหนี้ใหม่ที่แปลงมา ตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นโมฆะ เพราะมีการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 23,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 3,962,301.35 บาท และหากโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่ขอรับชำระหนี้ในคดีขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ในคดีหมายเลขแดงที่ ลฟ.8/2542 (ที่ถูกคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.8/2542) ของศาลล้มละลายกลางเพียงใด ก็ให้นำมาหักจากหนี้ของโจทก์ในคดีนี้เพียงนั้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 60,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 30,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.2 ให้แก่โจทก์โดยมีบริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) และจำเลยเป็นผู้รับอาวัล โจทก์นำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.8/2542 ของศาลล้มละลายกลาง คดีระหว่างธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 1 กับพวก ผู้ร้องขอ บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.2 เป็นเงินทั้งสิ้น 24,654,109.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 23,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จจากบริษัทปัญจพลเปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ลูกหนี้ ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบกับคำสั่งดังกล่าว ปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้อง เป็นการที่กรรมการจำเลยกระทำนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 ระบุวัตถุประสงค์ของจำเลยในข้อ (4) คือ การรับ ออก โอน และสลักหลังตั๋วเงินหรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้อย่างอื่น และตามข้อ (35) ประกอบธุรกิจบริการรับค้ำประกันหนี้สิน ความรับผิด และการปฏิบัติตามสัญญาของบุคคลอื่น ดังนั้น การที่จำเลยรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องซึ่งเป็นการค้ำประกันอย่างหนึ่ง จึงเป็นการกระทำตามวัตถุประสงค์ของจำเลยแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสองที่จำเลยฎีกามีว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่กำหนดอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และผู้ออกคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นการตกลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 911, 968 (1) ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน จึงมิใช่การให้กู้ยืมเงินตามความหมายของพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 การที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ก็มิใช่กรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงไม่เป็นโมฆะดังที่จำเลยเข้าใจ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสามที่จำเลยฎีกามีว่า หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินระงับไปโดยการแปลงนี้ใหม่แล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์นำตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด เป็นการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 นั้น เห็นว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.8/2542 เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ลูกหนี้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่ายังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดิสตรี้ จำกัด ข้อนี้จำเลยก็ไม่นำสืบโต้แย้งว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงยังไม่ระงับ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินยังไม่ระงับจำเลยผู้ค้ำประกันด้วยอาวัลจึงต้องร่วมรับผิดกับบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ผู้ออกตั๋วด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาข้อสี่ที่จำเลยฎีกามีว่า โจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์นำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการแล้ว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินอีกต่อไป เห็นว่า บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ เมื่อถึงกำหนดใช้เงินปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้รับชำระเงิน ต่อมาบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ การที่โจทก์นำตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 บัญญัติไว้ โจทก์มิได้มอบหรือโอนสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องให้แก่ผู้ใด โจทก์จึงยังคงเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินตามตั๋วได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์ยื่นตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องให้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแล้วหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องถึงกำหนดชำระ โจทก์นำไปยื่นเพื่อเรียกเก็บเงิน ณ ที่ทำการของบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด และเรียกเก็บเงินจากจำเลยซึ่งสถานที่ทำการของบริษัทดังกล่าวและของจำเลยตั้งอยู่ที่เดียวกันมีกรรมการชุดเดียวกัน แม้ตอนตอบคำถามค้านโจทก์จะเบิกความว่า นำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นให้นายสุพจน์ซึ่งเป็นผู้ลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินและเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ณ ที่ทำการของบริษัทดังกล่าวก่อนตั๋วสัญญาใช้เงินจะถึงกำหนด แต่โจทก์เบิกความตอบคำถามติงยืนยันว่าโจทก์ทวงถามด้วยวาจา และได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินไปมอบให้กับนายสุพจน์เมื่อตั๋วถึงกำหนดใช้เงิน ฝ่ายจำเลยคงมีนายสุพจน์เบิกความเพียงว่า โจทก์ไม่เคยเอาตั๋วสัญญาใช้เงินมายื่นกับนายสุพจน์ แต่นายสุพจน์รับว่าเป็นกรรมการของทั้งสามบริษัทคือ บริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด บริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) และจำเลย ตั๋วสัญญาใช้เงินหมาย จ.2 นายสุพจน์รับว่าลงชื่อในช่องผู้ออกตั๋ว และผู้อาวัลทั้งสองคน ผู้ออกตั๋วและผู้อาวัลมีที่ทำการอยู่ที่เดียวกัน ทั้งเบิกความรับว่ามูลหนี้เดิมก่อนที่จะมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.2 ก็เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินเหมือนกัน เป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงินใหม่ชำระหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเก่า เห็นว่า เมื่อนำจำนวนเงินที่ระบุในตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมีถึง 23,000,000 บาท มาพิจารณาประกอบคำเบิกความของโจทก์และคำรับของนายสุพจน์พยานจำเลยแล้ว น่าเชื่อว่าโจทก์ได้เบิกความไปตามความจริงเพราะไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะไม่นำตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.2 ไปยื่นให้ผู้จ่ายและผู้อาวัลทั้งสองใช้เงินตามตั๋วเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวถึงกำหนด เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่แทนฉบับเดิม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.3 ว่า ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในวันที่ 28 มีนาคม 2543 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2542 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.8/2542 ให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด และต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2542 โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามเอกสารหมาย ล.2 โดยนำตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.2 มาขอรับชำระหนี้ดังกล่าว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ยื่นตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องให้ผู้จ่ายและผู้อาวัลทั้งสองใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ตามที่ระบุในตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.2 นั้น ปรากฏว่าในคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทบัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ลูกหนี้นายสมยศเป็นผู้ยื่นคำรับชำระหนี้ดังกล่าวตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.1 โจทก์ระบุอัตราดอกเบี้ยที่ขอรับชำระหนี้ไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยในบัญชีแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้เอกสารหมาย ล.2 ระบุในช่องหมายเหตุว่า ลูกหนี้มิได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ให้เมื่อครบกำหนดในวันที่ 1 มีนาคม 2542 แต่ได้มีการตกลงทางวาจาว่า อัตราดอกเบี้ยใหม่จะเป็นร้อยละ 15 ต่อปี ในตารางรายละเอียดการคำนวณหนี้ เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 3 ก็มีหมายเหตุข้อเดียวกันนี้โดยโจทก์ลงชื่อในช่องเจ้าหนี้เอง ดังนั้น จำเลยผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งจะต้องร่วมรับผิดกับบริษัทปัญจพล เปเปอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ผู้ออกตั๋วแก่โจทก์ จึงต้องรับผิดในต้นเงิน 23,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีด้วย หาใช่ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ตามเอกสารหมาย จ.2 ไม่ ที่ศาลล่างพิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยให้จำเลยชำระในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นอกจากนี้แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 30,000 บาท แก่โจทก์

Share