คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 จะเป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่กล่าวแก้ข้อหาของโจทก์ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคำให้การเดิมหรือไม่ก็ย่อมกระทำได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 (3) แต่เนื่องจากคำให้การของจำเลยที่ 1 กับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกันเอง กลายเป็นคำให้การที่มิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้งอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ศาลฎีกาจึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การตามคำร้องดังกล่าว

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ส่วนที่โจทก์ได้ชำระเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องชำระจริงให้แก่จำเลยที่ ๒ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๒ กระทำการโดยทุจริต
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้มีส่วนกระทำละเมิดต่อโจทก์ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องคดีเกิน ๑ ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ขอแก้ไขคำให้การภายหลังที่มีการสืบพยานโจทก์บ้างแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นการแก้ไขคำให้การเพิ่มเติมประเด็นเข้ามาใหม่ และเป็นการขอแก้ไขภายหลังที่มีการสืบพยานโจทก์แล้ว ทั้งประเด็นที่ขอแก้ไขมิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกเบี้ยประกันภัยคืน ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่า มีเหตุสมควรอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การหรือไม่… จำเลยที่ ๑ ให้การรับว่า โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ตามฟ้องกับจำเลยที่ ๒ และเงินที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินของโจทก์ ส่วนคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ ๑ ฉบับลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๑ ขอแก้ไขคำให้การจำเลยที่ ๑ โดยเพิ่มเติมข้อความว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ตามฟ้องในขณะที่นำมาทำสัญญาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ ๒ ตามฟ้อง เพราะโจทก์ได้โอนและส่งมอบการครอบครองรถยนต์ดังกล่าวให้เป็นทรัพย์สินส่วนกลางของนายทวี ศรีสมบูรณานนท์ และกลุ่มนิมิตแล้ว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ดังกล่าว กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ จึงไม่มีผลผูกพันคู่กรณี เงินค่าเบี้ยประกันภัยไม่ใช่ทรัพย์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เช่นนี้คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าว เท่ากับจำเลยที่ ๑ ปฏิเสธว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ที่เอาประกันภัย เงินที่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยไม่ใช่ของโจทก์ ดังนั้น คำให้การจำเลยที่ ๑ กับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ ๑ จึงขัดแย้งกันเอง หากศาลอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าวแล้ว ย่อมจะทำให้คำให้การจำเลยที่ ๑ ขัดแย้งกัน กลายเป็นคำให้การที่มิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้ง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง ซึ่งจะทำให้ไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ที่เอาประกันภัยหรือไม่ เงินที่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยใช่เงินของโจทก์หรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาจึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การตามคำร้องดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้จำเลยที่ ๑ แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ ๑ ตามคำร้องดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share