คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1434/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ได้บังคับว่าในการมอบอำนาจแก่กันนั้น วันที่ลงในหนังสือมอบอำนาจจะต้องเป็นวันที่เดียวกันกับวันที่มีการมอบอำนาจกันจริง ทั้งผู้มอบอำนาจผู้รับมอบอำนาจ และพยานผู้รู้เห็นการมอบอำนาจก็ย่อมจะลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจในภายหลังที่มีการมอบอำนาจกันแล้วได้ ไม่ถือเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
ช. มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยก่อนที่จะได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ แต่โจทก์ได้ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ ช. ได้กระทำไปในนามของโจทก์โดยได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 823 วรรคหนึ่ง ถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์พ.ศ. 2496 ได้รับยกเว้นไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ในเอกสารต่าง ๆ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 เป็นสิ่งที่ศาลรู้เอง โจทก์ไม่ต้องนำสืบศาลก็รับฟังพยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีได้
โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2541 ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องหมายเรียกส่งสำเนาให้จำเลยโดยให้โจทก์นำส่งภายใน 7 วันหากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 10 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 ต่อศาลชั้นต้นขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยและได้ยื่นคำแถลงลงวันที่ 5พฤศจิกายน 2541 เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกดังกล่าวแก่จำเลยซึ่งเป็นเวลาเกิน 10 วัน นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ผู้ส่งหมายรายงานให้ศาลชั้นต้นทราบว่าส่งหมายดังกล่าวให้จำเลยไม่ได้ การที่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดี ซึ่งอาจเป็นเพราะศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีมีเหตุขัดข้องไม่สามารถส่งหมายเรียกให้จำเลยตามภูมิลำเนาที่ระบุไว้ในคำฟ้องแต่แรกได้ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ สาขาร้อยเอ็ด จำนวน 331,000 บาท เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดิน ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า จำเลยตกลงชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 3,050 บาทโดยชำระภายในวันที่ 6 ของทุกเดือน และจะชำระให้แล้วเสร็จภายใน 20 ปีนับแต่วันทำสัญญา ในการนี้จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3762และ 20416 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าว หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้ได้จนครบถ้วนนับแต่วันทำสัญญาจำเลยชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์บางงวดเท่านั้น เป็นการผิดสัญญา โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 468,997.61 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 331,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันไว้กับโจทก์จริง แต่จำเลยไม่ยอมรับว่าลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจผู้รับมอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจช่วงเป็นลายมือชื่อที่แท้จริง หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้รับมอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับชำระหนี้และบังคับจำนองเพราะนายชัยวัฒน์ รัตนวิภาพงษ์ ไม่มีอำนาจบอกกล่าวบังคับจำนองเนื่องจากหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้โจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นในเรื่องการนำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย ถือว่าเป็นการทิ้งฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 468,997.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากเงินต้น 331,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 13 ตุลาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3762 และ 20416 ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาข้อแรกเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการมอบอำนาจของนายชัยวัฒน์ รัตนวิภาพงษ์เป็นการมอบเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2541 แต่ในหนังสือมอบอำนาจได้ระบุวันมอบอำนาจเป็นวันที่ 9 ตุลาคม 2541 ถือว่าทำขึ้นคนละวันกัน หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าคู่ความหรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนดังที่ได้กล่าวมาแล้วทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลใดเป็นผู้แทนตนในคดี ผู้รับมอบอำนาจเช่นว่านั้นจะว่าความอย่างทนายความไม่ได้ แต่ย่อมตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาได้” บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าในการมอบอำนาจแก่กันนั้น วันที่ลงในหนังสือมอบอำนาจจะต้องลงวันที่เดียวกันกับวันที่มีการมอบอำนาจกันจริง ทั้งโดยสภาพแห่งการมอบอำนาจในกรณีเช่นนี้ผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจ และพยานผู้รู้เห็นการมอบอำนาจก็ย่อมจะลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจในภายหลังที่มีการมอบอำนาจกันแล้วได้ ไม่ถือเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า นายชัยวัฒน์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 แต่โจทก์เพิ่งทำหนังสือหรือมอบอำนาจให้นายชัยวัฒน์ดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2541 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ข้อนี้เห็นว่า แม้นายชัยวัฒน์ จะมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองก่อนที่จะได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองที่นายชัยวัฒน์ได้กระทำไปในนามของโจทก์โดยได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 วรรคหนึ่ง ถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาข้อสองว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 จ.4 และหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 รับฟังเป็นพยานเอกสารมิได้ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ตามกฎหมาย ข้อนี้เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์พ.ศ. 2496 จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ในเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าว ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 เป็นสิ่งที่ศาลรู้เอง โจทก์ไม่ต้องนำสืบศาลก็รับฟังพยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…

ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า ในชั้นรับคำฟ้องศาลชั้นต้นได้กำหนดระยะเวลาให้โจทก์นำส่งหมายเรียกให้จำเลยไว้ แต่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ทิ้งฟ้องแล้ว ข้อนี้เห็นว่า แม้จะปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2541 ศาลชั้นต้นรับคำฟ้อง หมายเรียกส่งสำเนาให้จำเลยโดยให้โจทก์นำส่งภายใน 7 วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 10 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 ต่อศาลชั้นต้นขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลย และได้ยื่นคำแถลงลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกดังกล่าวแก่จำเลยซึ่งเป็นเวลาเกิน 10 วัน นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ผู้ส่งหมายรายงานให้ศาลชั้นต้นทราบว่าส่งหมายดังกล่าวให้จำเลยไม่ได้ก็ตามแต่เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้เสีย ซึ่งอาจเป็นเพราะศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีมีเหตุขัดข้องไม่สามารถส่งหมายเรียกให้จำเลยตามภูมิลำเนาที่ระบุไว้ในคำฟ้องแต่แรกได้ ศาลชั้นต้นจึงไม่จำหน่ายคดี อันเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า เป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้วนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share