คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 281/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับชำระหนี้ ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้อยู่แล้ว ข้อความดังกล่าวจำเลยที่ 3 ย่อมเข้าใจคำฟ้องได้ดีว่า โจทก์ได้อ้างว่าจำเลยที่ 3 รู้และได้กระทำไปโดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลอาญา และกำลังใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ฟ้องของโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 แล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินโดยกล่าวอ้างว่าเป็นของตน การซ่อนเร้นนั้นย่อมเข้าใจความหมายได้ชัดเจนดีอยู่แล้ว ส่วนจะกระทำด้วยวิธีอย่างใดเป็นเรื่องรายละเอียดซึ่งโจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นหนี้เงินกู้และออกเช็คชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์ไว้แล้วไม่ใช่หนี้โจทก์ ต่อมาปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๒ ต่อศาลอาญาในความผิดฐานจ่ายเช็คไม่มีเงิน หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามโดยมีเจตนาร่วมกันเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้อยู่แล้ว ได้ร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินต่าง ๆ ซึ่งเป็นของจำเลยทั้งสองไปซ่อนเร้นในโกดังของจำเลยที่ ๓ และได้โอนขายให้แก่ผู้อื่นไปเป็นบางส่วนโดยเจตนาทุจริตเพื่อโกงเจ้าหนี้ไม่ให้ได้รับชำระหนี้ และจำเลยที่ ๓ได้ปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินเหล่านั้นอ้างว่าเป็นของตน ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ได้ร้องทุกข์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนไว้แล้ว ขอให้ลงโทษจำเลย
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งประทับฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่มีศาล ศาลชั้นต้นออกหมายจับ แต่ยังไม่ได้ตัวจึงจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
จำเลยที่ ๓ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๐, ๘๓
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ส่วนฎีกาที่อ้างว่าฟ้องของโจทก์ไม่สมบูรณ์นั้น เห็นว่า ฟ้องข้อ ๓ ของโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดเจนว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้รับชำระหนี้ ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้อยู่แล้ว ตามฟ้องข้อ ๒ ข้อความดังกล่าวจำเลยที่ ๓ ย่อมเข้าใจคำฟ้องได้ดีว่า โจทก์ได้อ้างว่าจำเลยที่ ๓ รู้และได้กระทำไปโดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ ๒ ต่อศาลอาญาในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค และกำลังใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ฟ้องของโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐ แล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ ๓ อ้างนำมาปรับแก่คดีไม่ได้ ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาต่อไปว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๓ ปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินเหล่านั้นกล่าวอ้างว่าเป็นของตน โดยไม่บรรยายว่าซ่อนเร้นอย่างไร ด้วยวิธีใด จำเลยไม่เข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ก็เห็นว่าการซ่อนเร้นนั้น ย่อมเข้าใจความหมายได้ชัดเจนดีอยู่แล้ว ส่วนการกระทำด้วยวิธีอย่างใดเป็นเรื่องรายละเอียดซึ่งโจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
พิพากษายืน

Share