แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเป็นผู้มีมลทินมัวหมอง มิใช่เพราะกระทำผิดตามข้อกล่าวหาว่า ประพฤติตนไม่สมควร แอบอ้างชื่อผู้ใหญ่ไปเรียกและรับค่าตอบแทนในการวิ่งเต้นช่วยเหลือบุคคลเข้าเป็นพนักงาน ติดต่อกับพนักงานอื่นให้ช่วยเหลือบุคคลเข้าทำงานโดยจะให้เงินเป็นค่าตอบแทน ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามข้อ 47(2) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ อันจำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความย่อมมีอำนาจพิพากษาเกินกว่าคำขอบังคับได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 52 ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องขอค่าชดเชยมา 18,120 บาท อันเป็นการคำนวณผิดพลาด โดยโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 18,180 บาท การที่ศาลแรงงานกลางเห็นสมควรและพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 18,180 บาท จึงเป็นการชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน อ้างว่าโจทก์มีมลทินมัวหมองและไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 18,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเนื่องจากได้รับรายงานว่าโจทก์ประพฤติตนไม่สมควร อ้างชื่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงเรียกเงินจากผู้ประสงค์จะเข้าทำงานเป็นพนักงานออมสินเป็นค่าตอบแทน จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและได้พิจารณาพฤติการณ์ของโจทก์จากการสอบสวนแล้วจึงมีมติให้โจทก์ออกจากงานฐานมีมลทินมัวหมอง การกระทำของโจทก์ทำให้บุคคลภายนอกหลงเชื่อว่าจะต้องมีการเสียเงินให้ผู้ใหญ่จึงจะเข้าทำงานได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการจงใจทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยให้โจทก์ออกจากงานในกรณีมีมลทินมัวหมองมิใช่เป็นการชี้ว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา จึงไม่มีข้อเท็จจริงแสดงว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเสียหายตามข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 18,180 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เหตุที่โจทก์ถูกเลิกจ้างปรากฏตามคำสั่งธนาคารออมสินว่า ตามที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่สมควร แอบอ้างชื่อผู้ใหญ่ไปเรียกและรับค่าตอบแทนในการวิ่งเต้นช่วยเหลือบุคคลเข้าเป็นพนักงานธนาคารออมสินและยังติดต่อกับพนักงานธนาคารออมสินให้ช่วยเหลือบุคคลเข้าทำงาน โดยจะให้เงินเป็นค่าตอบแทนนั้น แม้ตามทางสอบสวนไม่ได้ความเป็นสัตย์ว่า โจทก์ได้เรียกและรับค่าตอบแทนตามข้อกล่าวหา แต่พฤติการณ์แวดล้อมมีเหตุผลที่จะถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง หากจะให้ปฏิบัติงานต่อไปอาจจะเป็นผลเสียหายแก่ธนาคารออมสินได้ จึงให้โจทก์ออกจากตำแหน่งฐานมีมลทินมัวหมอง ดังนี้ เห็นว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเป็นผู้มีมลทินมัวหมอง มิใช่เพราะกระทำผิดตามข้อกล่าวหาถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามข้อ 47(2) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ อันจำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และคดีไม่ต้องสืบพยานในข้อที่ว่าพฤติการณ์ของโจทก์ที่มีมลทินมัวหมองนั้นทำให้จำเลยเสียหาย และเสียชื่อเสียงตามที่จำเลยขอสืบพยานต่อไปเพราะมิใช่ข้อที่จะทำให้ได้ความขึ้นว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยว่าจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษาเกินกว่าคำขอบังคับได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 52 โจทก์ฟ้องขอค่าชดเชยมา 18,120 บาท เห็นได้ว่าโจทก์คำนวณผิดพลาดไป เพราะโจทก์ขอค่าชดเชย 180 วันของค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,050 บาท ย่อมต้องเป็นเงินเกินกว่า 18,180 บาท หาใช่เพียง 18,120 บาทตามที่ขอไม่ การขอค่าชดเชยคำนวณจาก 180 วันของค่าจ้างอัตราสุดท้ายแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะเรียกร้องค่าชดเชยตามสิทธิที่พึงได้รับเมื่อได้ความว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,030 บาท มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 18,180 บาท การที่ศาลแรงงานกลางเห็นสมควรและพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 18,180 บาท จึงเป็นการชอบแล้ว
พิพากษายืน