คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 223-235/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์จากจำเลยร่วมโดยมีข้อสัญญาว่าจำเลยที่ 1 ตกลงรับช่วงจ้างคนงานจากจำเลยร่วมให้ทำงานกับจำเลยที่ 1 ต่อไป ลูกจ้างของจำเลยร่วมจึงเปลี่ยนมาเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 สัญญาจ้างระหว่างจำเลยร่วมกับลูกจ้างจึงเป็นอันระงับ อันเป็นกรณีนายจ้างเดิมโอนสิทธิของตนให้แก่นายจ้างใหม่ โดยความยินยอมของลูกจ้าง เพราะลูกจ้างได้ทำงานให้แก่จำเลยที่1 จนถึงวันเลิกจ้างเป็นเวลาสองเดือนเศษดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างลูกจ้าง จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า และแม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะได้เลิกสัญญากับจำเลยร่วม ก็ไม่มีผลทำให้หน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อลูกจ้างต้องเปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้าง ค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ทุกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายเลิกสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมแล้ว เพราะจำเลยร่วมเป็นฝ่ายผิดสัญญา คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 คือโจทก์ทุกคนต้องกลับคืนไปสู่ความรับผิดชอบของจำเลยร่วมเช่นเดิมและจำเลยร่วมจะต้องรับผิดต่อโจทก์แต่เพียงผู้เดียว ทั้งกรณีไม่ใช่เป็นการโอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์สัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ ฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2524 ระหว่างจำเลยร่วมและจำเลยที่ 1 แล้ว ตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 เช่าโรงภาพยนตร์พร้อมเครื่องอุปกรณ์เพื่อใช้ดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์มีกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2524 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2527 อัตราค่าเช่าเดือนละ 60,000 บาท ตามสัญญาข้อ 10 มีความว่า “ผู้เช่าตกลงรับช่วงจ้างคนงานตามบัญชีคนงานของผู้ให้เช่าที่จ้างอยู่ในปัจจุบัน โดยให้ผู้เช่าจ้างทำงานต่อไป นับแต่วันทำสัญญานี้” ตามสัญญาข้อ 10 นี้ โจทก์ทุกคนซึ่งเคยเป็นลูกจ้างจำเลยร่วมจึงเปลี่ยนมาเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 สัญญาจ้างระหว่างจำเลยร่วมกับโจทก์เป็นอันระงับ และเกิดสัญญาจ้างใหม่ระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ขึ้นแทนที่ นอกจากนี้โจทก์ยังบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 รับโอนโจทก์ไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยให้นับอายุการทำงานต่อเนื่องจากเดิม ตลอดจนรับโอนสิทธิและหน้าที่ไปด้วย จำเลยที่ 1 มิได้ให้การปฏิเสธในข้อนี้ และตามสัญญาเช่าก็มิได้มีข้อความเกี่ยวกับฐานะระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ทุกคนเป็นอย่างอื่น นอกเหนือไปจากสัญญาข้อ 10 ดังนี้ จึงต้องฟังว่าโจทก์ทุกคนมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยร่วมอีกต่อไป และกรณีนี้เป็นกรณีที่นายจ้างเดิมโอนสิทธิของตนให้แก่นายจ้างใหม่ โดยความยินยอมของลูกจ้าง เพราะลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างใหม่นับจากวันจ้างจนถึงวันเลิกจ้างเป็นเวลา 2 เดือน 15 วันทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 ขณะจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ทุกคนจึงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยร่วม ฉะนั้นผู้ที่มีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้าก็ได้แก่จำเลยที่ 1 หาใช่จำเลยร่วมไม่ ส่วนภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 เลิกสัญญาเช่ากับจำเลยร่วมแล้ว คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะกลับคืนสู่ฐานะเดิมเพียงใดนั้น เฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับฐานะของโจทก์ซึ่งเคยเป็นลูกจ้างของจำเลยร่วม ตามหนังสือสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ไม่ได้กล่าวถึงการรับลูกจ้างกลับคืนไว้ การที่โจทก์จะกลับไปเป็นลูกจ้างของจำเลยร่วมหรือไม่ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงที่โจทก์กับจำเลยร่วมจะได้จัดทำกันขึ้นใหม่ หากทั้งสองฝ่ายมีความประสงค์เช่นนั้น การเลิกสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยร่วมไม่มีผลทำให้โจทก์ทุกคนกลับไปเป็นลูกจ้างของจำเลยร่วมไปในตัว ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะเลิกสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์กับจำเลยร่วมก็ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ดังวินิจฉัยแล้ว”

พิพากษายืน

Share