แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าความเจ็บป่วยของโจทก์ที่ปรากฏนั้นมีอาการหนักหนาสาหัสที่ต้องรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานานและต้องรักษาถึงหลายอาการและหลังจากวันฟ้องก็เห็นได้ชัดว่าจะต้องรักษาต่อเนื่องกันไปอีกและยากที่จะมีสภาพแข็งแรงเหมือนเดิมได้ ดังนั้นเมื่อในเวลาที่พิพากษาคดี ศาลชั้นต้นเห็นเป็นพ้นวิสัยจะหยั่งรู้ได้แน่ชัดว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับนั้นแท้จริงเพียงใด จึงมีอำนาจที่จะกล่าวในคำพิพากษาว่ายังสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาอีกภายในระยะเวลาไม่เกินสองปีได้ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 444 วรรคสอง ให้อำนาจไว้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 552,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 552,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2551 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยศาลยังสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาอีกภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับแต่คดีถึงที่สุด สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยที่ 2 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความจำนวน 10,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 5,000 บาท แก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 352,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 2 จะมีระเบียบให้ดูแลรถให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้ดี แต่เพียงระเบียบอย่างเดียวโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตาม ก็หาทำให้รถอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้แต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถของจำเลยที่ 2 คันเกิดเหตุเป็นรถยี่ห้อที่ประชาชนทั่วไปใช้กันอย่างแพร่หลายย่อมบ่งแสดงว่ามีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือ ดังนั้น หากมีการดูแลรถยนต์อย่างดีให้มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้ตลอดเวลาและขับรถด้วยความเร็วตามปกติย่อมจะไม่เกิดเหตุเพลาล้อหลุดเป็นแน่ การที่รถแล่นขึ้นสะพานแล้วเพลาล้อหลุดบ่งแสดงว่า เกิดจากการกระทำโดยประมาท หาใช่เหตุสุดวิสัยแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กำหนดให้เหมาะสมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นชาวบ้านตัวคนเดียวไม่มีครอบครัว ฐานะยากจน ประกอบอาชีพค้าขายของในตลาดสด เมื่อได้รับอันตรายสาหัส ต้องไปพักอาศัยอยู่กับแม่ชีที่วัดอุโมงค์ บาดแผลที่โจทก์ได้รับรุนแรงมาก แต่โจทก์ไม่มีเงินรักษา ดังนั้น การรักษาจึงเชื่อว่าเป็นไปตามที่โจทก์เบิกความคือรักษาทั้งแผนปัจจุบันและแผนทางเลือก เช่น ฝังเข็ม การไปรักษาโจทก์ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระให้แก่โจทก์ 50,000 บาท นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 แล้ว เพราะหากโจทก์เป็นบุคคลที่มีฐานะทางการเงินดีอาจเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชน จำเลยที่ 2 ก็จะต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก และการเลือกสถานที่รักษาเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล จำเลยที่ 2 จะบังคับให้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 2 หาได้ไม่ ส่วนค่าเสียหายจากการเสียความสามารถในการประกอบการงานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กำหนดให้ 300,000 บาท ลดลงจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ 500,000 บาท นั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์อายุ 45 ปี หลังเกิดเหตุแล้วโจทก์ต้องรักษาตัวตลอดเวลา แม้ขณะโจทก์เบิกความเป็นพยานในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 หลังเกิดเหตุแล้วเกือบ 2 ปี โจทก์ไม่สามารถไปประกอบอาชีพค้าขายได้ดังเดิมเนื่องจากขยับตัวแล้วปวดเจ็บ ทำให้เห็นถึงความลำบากในการดำรงตนอยู่ของโจทก์ที่เป็นหญิงโสดอยู่คนเดียว ต้องพึ่งพาอาศัยแม่ชี ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ 300,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งให้จ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่โจทก์เพราะโจทก์มิได้ขอนั้น เห็นว่า ตามตาราง 7 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้อำนาจศาลกำหนดให้คู่ความซึ่งต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่คู่ความอีกฝ่ายตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร โดยในคดีมีทุนทรัพย์ต้องไม่เกินร้อยละ 1 ของจำนวนทุนทรัพย์ โดยให้ศาลคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่คู่ความได้เสียไป รวมถึงลักษณะและวิธีการดำเนินคดีของคู่ความ ดังนั้น ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 เสียค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์ได้ แม้โจทก์จะมิได้ขอมาก็ตาม ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอีกว่าการที่ศาลชั้นต้นสงวนสิทธิแก้ไขคำพิพากษาเป็นการไม่ชอบเนื่องจากโจทก์หายจากการบาดเจ็บแล้วนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าความเจ็บป่วยของโจทก์ที่ปรากฏนั้นมีอาการหนักหนาสาหัสที่ต้องรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานานและต้องรักษาถึงหลายอาการและหลังจากวันฟ้องก็เห็นได้ชัดว่าจะต้องรักษาต่อเนื่องกันไปอีกและยากที่จะมีสภาพแข็งแรงเหมือนเดิมได้ ดังนั้นเมื่อในเวลาที่พิพากษาคดี ศาลชั้นต้นเห็นเป็นพ้นวิสัยจะหยั่งรู้ได้แน่ชัดว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับนั้นมีแท้จริงเพียงใด จึงมีอำนาจที่จะกล่าวในคำพิพากษาว่ายังสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาอีกภายในระยะเวลาไม่เกินสองปี ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 วรรคสอง ให้อำนาจไว้ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ