คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2389/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในตอนแรกที่ศาลชั้นต้นประทับฟ้อง จำเลยทั้งสองแถลงขอสู้คดีขอให้การในวันพิจารณาและจะหาทนายความเอง ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นได้จดคำให้การไว้ว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ว่าได้กระทำผิดตามฟ้องทุกประการ ต่อมาทนายความจำเลยทั้งสองได้มาถึงศาลและยื่นใบแต่งทนายความพร้อมกับแถลงว่าที่มาศาลช้าเพราะไม่สบาย ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้นเองแต่ต้องเลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาในวันอื่น ก่อนถึงวันนัด 1 วันจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิม และขอให้การใหม่ว่ามิได้กระทำความผิด คำร้องของจำเลยทั้งสองเช่นนี้ย่อมมีผลเป็นการขอแก้คำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพ เป็นให้การปฏิเสธ และเหตุผลที่จำเลยทั้งสองอ้างก็เป็นเหตุผลที่อาจเป็นไปได้ และน่าเชื่อว่าขณะที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพนั้นยังมิได้ปรึกษากับทนายความประกอบกับในคดีอาญาจำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีได้เต็มที่จะให้การต่อสู้ว่าอย่างไรหรือไม่ให้การเลยก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 165 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นสมควรให้จำเลยทั้งสามแก้คำให้การได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๙ จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมสำเนาและต้นฉบับใบอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน (แบบ ป.๒) อันเป็นเอกสารทางราชการและจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เอกสารปลอมนั้นสั่งซื้ออาวุธปืนสำหรับการค้าและนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตทั้งจำเลยทั้งสองร่วมกันจัดหรือยื่นใบขนสินค้าที่เข้ามาตามเอกสารปลอมต่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรรวม ๕ กระทงเป็นความผิดขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง
ในวันศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้อง ศาลชั้นต้นได้อธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้วจำเลยทั้งสองแถลงขอสู้คดี จะยื่นคำให้การในวันพิจารณาและจะหาทนายความเองศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ ในวันนัดศาลชั้นต้นจดคำให้การจำเลยทั้งสองว่าขอให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์ทุกประการ โจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน นัดฟังคำพิพากษาวันนี้เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา แต่ศาลชั้นต้นติดพิจารณาคดีเรื่องอื่นจึงเลื่อนไปฟังคำพิพากษาวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๔ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๔ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมอ้างว่า จำเลยทั้งสองรับสารภาพโดยเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยรับเพียงว่ากระทำในฐานะลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดอุรชาจริงเท่านั้น จำเลยกระทำไปโดยเข้าใจโดยสุจริตว่าไม่ผิดกฎหมาย ขอให้การใหม่ว่ามิได้กระทำผิดดังฟ้อง
โจทก์รับสำเนาแล้วแถลงว่าจำเลยทั้งสองให้การด้วยความสมัครใจไม่ควรอนุญาตให้ถอนคำให้การ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพต่อศาลด้วยตนเองโดยความสมัครใจ ซึ่งทนายความจำเลยทั้งสองก็อยู่ด้วย จำเลยทั้งสองยังได้แถลงไม่ติดใจสืบพยาน จึงไม่มีเหตุที่จำเลยทั้งสองจะเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงที่ให้การรับสารภาพ คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมายไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้จำเลยทั้งสองถอนคำให้การที่รับสารภาพและรับคำให้การใหม่ที่ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิด สำหรับข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอมนั้นให้ลงโทษฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๕ กระทงเดียว ลงโทษฐานสั่งหรือนำเข้ามาซึ่งอาวุธปืนสำหรับการค้าตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗๓ ลงโทษฐานนำอาวุธปืนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานปลอมต้นฉบับและสำเนา ป.๒ กับใช้เอกสารปลอมดังกล่าวทุกกระทงความผิด และฐานจัดหรือยื่นใบขนสินค้าขาเข้าเป็นเท็จตามฟ้องด้วย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ดำเนินการพิจารณาใหม่ หรือหากมีความผิดก็ขอให้กำหนดโทษจำเลยที่ ๒ ต่ำลงมาและรอการลงโทษไว้
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำร้องขอถอนคำให้การเดิมของจำเลยทั้งสองมีเหตุอันควรอนุญาต จึงไม่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองถอนคำให้การเดิม และไม่รับคำให้การที่ขอให้การใหม่กับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกาขอให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แล้วให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำร้องของจำเลยทั้งสองเช่นนี้ย่อมมีผลเป็นการขอแก้คำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพ เป็นให้การปฏิเสธและเหตุผลที่จำเลยทั้งสองอ้างขอแก้คำให้การนั้นก็เป็นเหตุผลที่อาจเป็นไปได้ เพราะในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองก็ให้การภาคเสธ และในชั้นศาลชั้นต้นประทับฟ้องจำเลยทั้งสองก็แถลงขอสู้คดี แม้ในคำร้องขอแก้คำให้การก็อ้างว่าเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง และเข้าใจโดยสุจริตว่าการกระทำของจำเลยไม่ผิดกฎหมาย จึงน่าเชื่อว่าขณะที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพนั้นยังมิได้ปรึกษากับทนายความ ครั้นได้ปรึกษากับทนายความในภายหลังแล้ว จำเลยทั้งสองจึงเข้าใจถูกต้องในการต่อสู้คดี นับว่าเป็นเหตุผลอันควร ประกอบกับในคดีอาญาจำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีได้เต็มที่จะให้การต่อสู้ว่าอย่างไรหรือไม่ให้การเลยก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๖๕ วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นสมควรให้จำเลยแก้คำให้การได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๓ วรรคสอง
พิพากษายืน

Share