แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามระเบียบการฝากเงินกระแสรายวันของธนาคารโจทก์มีว่าถ้าเงินในบัญชีของจำเลยไม่พอจ่ายตามเช็ค เมื่อธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายเงินตามเช็คนั้นให้ไปจำเลยย่อมเป็นอันผูกพันตนที่จะจ่ายเงินสวนที่เกินคืนให้ธนาคารโจทก์เสมือนหนึ่งได้ขอร้องให้เบิกเงินเกินบัญชีไว้แก่ธนาคารธนาคารโจทก์จะคิดดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชีเป็นรายวัน(ดอกเบี้ยทบต้น)และจะนำผลดอกเบี้ยนั้นหักบัญชีเป็นรายเดือนจำเลยฝากเงินกระแสรายวันแก่ธนาคารโจทก์โดยโจทก์ตกลงให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์ได้โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นย่อมถือได้ว่าเป็นสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี
การที่จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารโจทก์มีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีและเบิกเงินอยู่เรื่อย ๆโดยวิธีใช้เช็คสั่งจ่ายหลายครั้งและยอมเสียดอกเบี้ยทบต้น ตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคารดังนี้ เข้าลักษณะ สัญญาบัญชีเดินสะพัด แม้หลังจากจำเลยใช้เช็คสั่งจ่ายเบิกเงินครั้งสุดท้ายแล้วบัญชีของจำเลยได้หยุดเดินสะพัดโดยจำเลยมิได้นำเงินเข้าฝากหรือเบิกเงินจากธนาคารโจทก์ อีกเลยจนถึงวันฟ้องจะเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้วก็ตามกรณีก็ต้องนำบทบัญญัติเกี่ยวด้วยเรื่องบัญชีเดินสะพัดมาปรับซึ่งการชำระหนี้ย่อมต้องปฏิบัติตามวิธีการของ สัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำได้เมื่อหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินที่คงเหลือเมื่อไม่ปรากฏว่าการ เบิกเงินเกินบัญชีนี้ได้ตกลงกันชำระหนี้เสร็จสิ้นเมื่อใดสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินเบิกเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นเมื่อ มีการหักทอนบัญชีกันและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลืออันเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 856,859
ธนาคารโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามลงวันที่ 5 มีนาคม2519 ไปยังจำเลยให้จัดการชำระเงินตามยอดเงินในบัญชีเงินฝากวันที่ 26 พฤศจิกายน 2518 ให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วันนับแต่วันได้รับหนังสือทวงถามพ้นกำหนดวันที่ 24 มิถุนายน 2519 จำเลยทราบแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้านยอดหนี้และไม่ชำระหนี้ดังนี้ถือได้ว่าได้มีการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันแล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2521ยังไม่ถึง 10 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
(วรรคสามวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเปิดบัญชีฝากกระแสรายวันกับโจทก์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2510 บัญชีเลขที่ 301 และโจทก์ยินยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีและคิดดอกเบี้ยทบต้น โดยหักทอนบัญชีเป็นรายเดือนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี จำเลยได้นำเงินเข้าฝากและสั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีหลายครั้งจนเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2518 จำเลยเป็นหนี้ธนาคารโจทก์อยู่ 136,105.14บาท โจทก์ทวงถามจำเลย จำเลยรับหนังสือแล้วแต่เพิกเฉย โจทก์หักทอนบัญชีกับจำเลยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2519 ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้ธนาคารโจทก์146,607.31 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 146,607.31 บาท นับตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2519 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 857 วัน เป็นดอกเบี้ย 51,632.77 บาท รวมเงินที่จำเลยต้องรับผิด 198,240.08 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้หลายประการและว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นับเพียงเวลาที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับสุดท้าย ซึ่งโจทก์ได้จ่ายเงินตามเช็คนั้นไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2511 เป็นเวลาเกิน 10 ปีจึงขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้เปิดเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2510 และตกลงให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์ได้โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นหักทอนบัญชีกันเดือนละครั้ง จำเลยได้นำเงินเข้าฝากครั้งแรกโดยเงินสด 7,000 บาท จำเลยได้นำเงินเข้าฝากและสั่งจ่ายเช็คหลายครั้งจนครั้งสุดท้ายจำเลยได้สั่งจ่ายเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2511ธนาคารโจทก์ได้จ่ายเงิน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2511 และได้มีการจดลงในบัญชีเงินฝากเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งในวันนั้นจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ 48,251.21บาท หลังจากนั้นจำเลยมิได้ติดต่อกับธนาคารโจทก์ มิได้นำเงินฝากและสั่งจ่ายเช็คให้ธนาคารโจทก์จ่ายเงินอีกเลย จนถึงวันฟ้องคดีนี้
ในปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าปรากฏตามระเบียบการฝากเงินกระแสรายวันด้านหลังคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวัน(เอกสารหมาย จ.2) ข้อ 12 ความว่า “ถ้าเงินในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็คโดยปกติธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินนั้นโดยสิ้นเชิง แต่เมื่อธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายเงินตามเช็คนั้นให้ไปผู้ฝากย่อมเป็นอันยอมรับผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่เกินคืนให้ธนาคารเสมือนหนึ่งได้ขอร้องให้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคาร ในกรณีที่เงินในบัญชีเงินฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็คหลายฉบับที่นำมาเรียกเก็บพร้อม ๆ กัน ธนาคารทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะจ่ายเงินตามเช็คฉบับใดก็ได้” กับข้อ 19 ความว่า “ธนาคารคิดดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชีเป็นรายวัน (ดอกเบี้ยทบต้น) และจะนำผลดอกเบี้ยนั้นหักบัญชีเป็นรายเดือน ข้อตกลงนี้จะใช้ในทุกกรณี” ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามระเบียบการฝากเงินดังกล่าว เมื่อมีการตกลงกันเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างธนาคารโจทก์และจำเลย ซึ่งโจทก์จำเลยจะต้องผูกพันปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว การที่จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารโจทก์มีการนำเงินเข้าฝากในบัญชี และเบิกเงินอยู่เรื่อย ๆ โดยวิธีใช้เช็คสั่งจ่ายหลายครั้งและยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร ดังนี้ เข้าลักษณะสัญญาบัญชีเดินสะพัด ฉะนั้นแม้หลังจากจำเลยใช้เช็คสั่งจ่ายเบิกเงินครั้งสุดท้ายแล้วเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2511 บัญชีของจำเลยได้หยุดเดินสะพัด โดยจำเลยมิได้นำเงินเข้าฝากหรือเบิกเงินจากธนาคารโจทก์อีกเลย จนถึงวันฟ้องคดีนี้จะเป็นเวลาเกิน10 ปีแล้วก็ตาม กรณีก็ต้องนำบทบัญญัติเกี่ยวด้วยเรื่องบัญชีเดินสะพัดมาปรับซึ่งการชำระหนี้ย่อมต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำได้เมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือ ไม่ปรากฏว่าการเบิกเงินเกินบัญชีนี้ได้ตกลงกันชำระหนี้เสร็จสิ้นเมื่อใด สิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินเบิกเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีกันและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลืออันเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856,859 คดีนี้ฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ว่าธนาคารโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามลงวันที่ 5 มีนาคม 2519 ไปยังจำเลยให้จัดการชำระเงินจำนวน 136,105 บาท14 สตางค์ ตามยอดเงินในบัญชีเงินฝาก วันที่ 26 พฤศจิกายน 2518 ให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วันนับแต่วันรับหนังสือทวงถามคือนับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2519 ดังปรากฏตามหนังสือทวงถามและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.3, จ.4 จำเลยทราบแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้านยอดหนี้ตามที่ธนาคารโจทก์แจ้งไป พ้นกำหนด 7 วันแล้วคือวันที่ 24 มิถุนายน 2519 ก็ไม่จัดการชำระหนี้ ดังนี้ถือได้ว่าได้มีการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันแล้วอายุความต้องถือตามหนี้สัญญาบัญชีเดินสะพัดโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2521 ยังไม่ถึง 10 ปีคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดชำระหนี้จำนวน136,105.14 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2518ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2519 ส่วนดอกเบี้ยต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยธรรมดาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ