แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยว่าจ้าง ร. ส. และ ป. เดินทางจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อไปรับเมทแอมเฟตามีนจาก ก. ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อนำไปส่งมอบแก่จำเลยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมิได้ระบุจำนวนเมทแอมเฟตามีน และจำเลยได้มอบเงินค่าเดินทางรวม 4,000 บาท พร้อมโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ให้ ป. ไว้เพื่อใช้ร่วมกัน ตามพฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาให้ ร. ส. และ ป. เดินทางไปรับมอบเมทแอมเฟตามีนจาก ก. ด้วยกัน อีกทั้งเมทแอมเฟตามีนที่ ก. ส่งมอบให้ ป. บรรจุรวมกันอยู่ในถุงลูกอม 1 ถุง ซึ่งขณะรับมอบ ร. และ ส. ก็อยู่ด้วย หลังจากนั้นจึงพากันเข้าห้องน้ำสาธารณะที่ตลาดในจังหวัดท่าขี้เหล็ก แล้วแบ่งเมทแอมเฟตามีนระหว่างกันเองซุกซ่อนในทวารหนัก ซึ่ง ร. รับไว้ 759 เม็ด ส. รับไว้ 773 เม็ด และ ป. รับไว้ 968 เม็ด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยสั่งให้แบ่งแยกเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวตามรายตัว ทั้งลักษณะของการแบ่งเมทแอมเฟตามีนก็เป็นเศษจำนวน เชื่อว่าเป็นการตกลงแบ่งกันเองตามกำลังความสามารถของแต่ละคนที่จะซุกซ่อนในทวารหนักได้ อันเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกในการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งหาก ร. ส. และ ป. ร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนทั้งหมดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่แบ่งแยกจำนวน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว ดังนั้น การแบ่งแยกเมทแอมเฟตามีนในระหว่างกันเองของ ร. ส. และ ป. เพื่อความสะดวกในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรพร้อมกันเช่นนี้ ย่อมไม่มีผลทำให้การกระทำของจำเลยกลายเป็นความผิดหลายกรรมไปได้ เพราะเจตนาหลักของจำเลยเพียงประสงค์จะได้เมทแอมเฟตามีนทั้งหมดมาไว้ในครอบครองคราวเดียวกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงวิธีการที่ ร. กับพวก จะลักลอบนำเข้ามาแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันกระทำความผิดกับ ป. ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 735/2560 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 100/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และนับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 704/2559 และ 1748/2559 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (ที่แก้ไขใหม่), 65 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 52 (1) ฐานเป็นผู้สนับสนุนการนำเข้าเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและฐานเป็นผู้สนับสนุนการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นจำนวนเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการนำเข้าเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เพียงบทเดียว ให้จำคุกตลอดชีวิตและให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 704/2559 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1448/2560 ของศาลชั้นต้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2547 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรแม่สาย จังหวัดเชียงราย ร่วมกันจับกุมนายรัฐพงษ์ นายสมยศ และนางสาวเปรมสุดา ได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนที่คนทั้งสามซุกซ่อนไว้ในทวารหนักลักลอบนำเข้ามาจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นของกลาง โดยยึดเมทแอมเฟตามีนได้จากนายรัฐพงษ์ 759 เม็ด จากนายสมยศ 773 เม็ด และจากนางสาวเปรมสุดา 968 เม็ด ซึ่งได้แยกดำเนินคดีแก่คนทั้งสามไปแล้ว จากการสอบสวนขยายผลพนักงานสอบสวนเชื่อว่า จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้คนทั้งสามลักลอบนำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร วันที่ 28 มกราคม 2548 จึงขออนุมัติออกหมายจับจำเลยในข้อหาร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย และร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2558 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ หลังจากนั้นพนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายแยกดำเนินคดีแก่จำเลยเป็น 3 สำนวน กล่าวคือ ฟ้องว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดกับนายรัฐพงษ์ ในส่วนของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 759 เม็ด เป็นคดีอาญาหมายเลขดำ 703/2559 หมายเลขแดงที่ 1178/2560 (คือคดีนี้) ฟ้องว่าร่วมกระทำความผิดกับนายสมยศ ในส่วนของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 773 เม็ด เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 704/2559 หมายแดงที่ 1448/2560 ของศาลชั้นต้น และฟ้องว่าร่วมกระทำความผิดกับนางสาวเปรมสุดา ในส่วนของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 968 เม็ด เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1748/2559 หมายเลขแดงที่ 735/2560 ของศาลชั้นต้น สำหรับผลการตรวจพิสูจน์เมทแอมเฟตามีนของกลางคดีนี้ (759 เม็ด) มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 17.604 กรัม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้นายรัฐพงษ์นำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย และเป็นผู้สนับสนุนการมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ในปัญหาดังกล่าวโจทก์มีพันตำรวจโท อำนวย (ยศขณะเบิกความ) และร้อยตำรวจโท กมล (ยศขณะเบิกความ) ผู้ร่วมจับกุมนายรัฐพงษ์ เป็นพยานเบิกความยืนยันตรงกันว่า วันเกิดเหตุ เมื่อถูกจับกุมได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง นายรัฐพงษ์ รวมทั้งนายสมยศ และนางสาวเปรมสุดา ต่างให้การรับสารภาพว่า จำเลยซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้ว่าจ้างให้ไปรับเมทแอมเฟตามีนจากนางแก้ว ชาวเมียนมา ที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อนำไปส่งมอบให้แก่จำเลย ซึ่งคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากสอดคล้องกับบันทึกคำรับสารภาพของนายรัฐพงษ์ ที่นายรัฐพงษ์เขียนขึ้นด้วยลายมือตนในวันรุ่งขึ้นหลังถูกจับกุมนั้นเอง โดยมีรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยอย่างชัดเจน อีกทั้งโจทก์มีพันตำรวจโท นิธิกร (ยศขณะเบิกความ) พนักงานสอบสวน เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า หลังจากได้รับตัวนายรัฐพงษ์ นายสมยศ และนางสาวเปรมสุดา มาทำการสอบสวน พยานได้ค้นหาชื่อของจำเลยในทะเบียนราษฎร์ตามที่คนทั้งสามให้การซัดทอดว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย เมื่อได้ภาพถ่ายของจำเลยมาให้นายรัฐพงษ์กับพวกดู ต่างยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้นำเมทแอมเฟตามีนของกลางจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ไปส่งที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีจริง นอกจากนี้โจทก์ยังมีพันตำรวจโท เจริญ (ยศขณะเบิกความ) พนักงานสอบสวนร่วม เป็นพยานเบิกความสนับสนุนอีกปากหนึ่งว่า ในชั้นสอบสวนนายรัฐพงษ์ได้ให้การรับสารภาพไว้ ซึ่งปรากฏรายละเอียดอย่างชัดเจนว่า จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างนายรัฐพงษ์ นายสมยศ และนางสาวเปรมสุดา เดินทางจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อไปรับเมทแอมเฟตามีนจากนางแก้ว ที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อนำไปส่งมอบให้แก่จำเลย โดยตกลงจะให้ค่าจ้างแก่นายรัฐพงษ์ และนางสาวเปรมสุดา ซึ่งเป็นสามีภริยากัน คนละ 15,000 บาท และจำเลยมอบเงินค่าเดินทางให้ 4,000 บาท พร้อมกับมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ใช้ในการติดต่อ 1 เครื่องด้วย พยานโจทก์ทุกปากต่างปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่ ไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน และเบิกความได้สอดคล้องเชื่อมโยงกับเอกสารและภาพถ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ปรากฏข้อพิรุธให้น่าระแวงสงสัย จึงเชื่อว่าเบิกความไปตามเหตุการณ์ที่รู้เห็นมาจริง เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อที่ว่า นายรัฐพงษ์เป็นหลานจำเลย ได้ให้การมาตั้งแต่ชั้นจับกุมว่า จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้นายรัฐพงษ์กับพวกขนเมทแอมเฟตามีนมาจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อนำไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งระบุรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยไว้อย่างชัดเจน โดยไม่ปรากฏว่านายรัฐพงษ์มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน กลับได้ความว่ามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน โดยเป็นหลานของจำเลยเอง อีกทั้งคำให้การซัดทอดของนายรัฐพงษ์หาใช่เป็นการซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นจากความผิด ด้วยการโยนความผิดไปให้จำเลยเพียงลำพังไม่ แต่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นพร้อมระบุตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องไปตามความเป็นจริง นอกจากนี้นายสมยศและนางสาวเปรมสุดาต่างชี้ยืนยันภาพถ่ายจำเลยว่า เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยเช่นกัน จึงถือเป็นพยานบอกเล่าและพยานซัดทอดที่มีเหตุผลอันหนักแน่น มีน้ำหนักรับฟังได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) และมาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 โดยไม่จำต้องอาศัยพยานประกอบอื่นดังที่จำเลยฎีกา ข้อที่จำเลยอ้างว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับนายรัฐพงษ์มาก่อน เป็นการเบิกความเพียงลอย ๆ ปากเดียว โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน อีกทั้งในชั้นสอบสวนจำเลยก็ไม่ได้ให้การในเรื่องนี้ เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นพิจารณา จึงไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือ แม้โจทก์ไม่ได้นำนายรัฐพงษ์ นายสมยศ และนางสาวเปรมสุดา มาเบิกความยืนยันในชั้นพิจารณา ก็ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้พยานหลักฐานของโจทก์ขาดความน่าเชื่อถือจนรับฟังไม่ได้ ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์นั้น เป็นเพียงข้อปลีกย่อย ไม่มีผลทำให้การรับฟังพยานหลักฐานในคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย จากเหตุผลดังที่กล่าวมา ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนให้นายรัฐพงษ์นำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย และสนับสนุนการมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริงพยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของนายรัฐพงษ์ นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1748/2559 หมายเลขแดงที่ 735/2560 ของศาลชั้นต้น อันทำให้ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยไม่ได้ยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่ปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย อีกทั้งโจทก์ได้ระบุคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1748/2559 ของศาลชั้นต้นมาในคำฟ้อง และมีคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีดังกล่าวด้วย จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้ โดยจำเลยฎีกาสรุปได้ว่า จำเลยมีเจตนาว่าจ้างนายรัฐพงษ์ นายสมยศ และนางสาวเปรมสุดา ให้ขนเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบแก่จำเลยในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1748/2559 ซึ่งจำเลยถูกฟ้องว่าร่วมกระทำความผิดกับนางสาวเปรมสุดา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปก่อนแล้ว เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 735/2560 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 735/2560 ดังกล่าวนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยว่าจ้างให้นายรัฐพงษ์ นายสมยศ และนางสาวเปรมสุดา เดินทางจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อไปรับเมทแอมเฟตามีนจากนางแก้ว ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อนำไปส่งมอบแก่จำเลยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมิได้ระบุจำนวนเมทแอมเฟตามีน และจำเลยได้มอบเงินค่าเดินทางรวม 4,000 บาท พร้อมโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ให้นางสาวเปรมสุดาไว้เพื่อใช้ร่วมกัน ตามพฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาให้นายรัฐพงษ์ นายสมยศ และนางสาวเปรมสุดา เดินทางไปรับมอบเมทแอมเฟตามีนจากนางแก้วด้วยกัน อีกทั้งเมทแอมเฟตามีนที่นางแก้วส่งมอบให้นางสาวเปรมสุดา บรรจุรวมกันอยู่ในถุงลูกอม 1 ถุง ซึ่งขณะรับมอบ นายรัฐพงษ์และนายสมยศก็อยู่ด้วย หลังจากนั้นจึงพากันเข้าห้องน้ำสาธารณะที่ตลาดในจังหวัดท่าขี้เหล็ก แล้วแบ่งเมทแอมเฟตามีนระหว่างกันเองซุกซ่อนในทวารหนัก ซึ่งนายรัฐพงษ์รับไว้ 759 เม็ด นายสมยศรับไว้ 773 เม็ด และนางสาวเปรมสุดารับไว้ 968 เม็ด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยสั่งให้แบ่งแยกเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวตามรายตัว ทั้งลักษณะของการแบ่งเมทแอมเฟตามีนก็เป็นเศษจำนวน เชื่อว่าเป็นการตกลงแบ่งกันเองตามกำลังความสามารถของแต่ละคนที่จะซุกซ่อนในทวารหนักได้ อันเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกในการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งหากนายรัฐพงษ์ นายสมยศ และนางสาวเปรมสุดา ร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนทั้งหมดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่แบ่งแยกจำนวน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว ดังนั้น การแบ่งแยกเมทแอมเฟตามีนในระหว่างกันเองของนายรัฐพงษ์ นายสมยศ และนางสาวเปรมสุดา เพื่อความสะดวกในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรพร้อมกันเช่นนี้ ย่อมไม่มีผลทำให้การกระทำของจำเลยกลายเป็นความผิดหลายกรรมไปได้ เพราะเจตนาหลักของจำเลยเพียงประสงค์จะได้เมทแอมเฟตามีนทั้งหมดมาไว้ในครอบครองคราวเดียวกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงวิธีการที่นายรัฐพงษ์กับพวกจะลักลอบนำเข้ามาแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันกระทำความผิดกับนางสาวเปรมสุดา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 735/2560 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวีธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบาอีกต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง