คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6979/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันทำไม้ขะเจ๊าะและไม้มะเกลือซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ที่ขึ้นอยู่ในป่าและร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามดังกล่าวอันยังมิได้แปรรูป โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดินจึงเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) เมื่อทางนำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าที่เกิดเหตุเป็นป่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม้ของกลางที่ยังมิได้แปรรูปที่จำเลยทั้งสี่มีไว้ในครอบครองเป็นไม้จำนวนเดียวกันกับไม้ที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำไม้ในที่เกิดเหตุซึ่งไม่ใช่ป่าแต่เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ การที่จำเลยทั้งสี่มีไม้ดังกล่าวไว้ในครอบครองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 6, 7, 11, 69, 73, 74, 75 พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 58, 83, 91 ริบไม้ขะเจ๊าะท่อนและเลื่อยโซ่ยนต์ 3 เครื่อง ของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 69 วรรคสอง (2) พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 (ที่ถูก มาตรา 17 วรรคหนึ่ง) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป จำคุก 1 ปี และปรับ 50,000 บาท ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละและกระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 8 เดือน และปรับคนละ 27,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสี่โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ภายในปีแรก ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสี่เห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบไม้ขะเจ๊าะท่อนและเลื่อยโซ่ยนต์ 3 เครื่อง ของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป ยกคำขอให้ริบไม้ขะเจ๊าะท่อนของกลาง โดยให้คืนไม้ขะเจ๊าะท่อนของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนายสุรพล ปลัดอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง กับพวกร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสี่และยึดไม้ขะเจ๊าะ 36 ท่อน ปริมาตรรวม 1.015 ลูกบาศก์เมตร และเลื่อยโซ่ยนต์ 3 เครื่อง สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์มิได้อุทธรณ์ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1, ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันกระทำความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าที่เกิดเหตุที่จำเลยที่ 1, ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันทำไม้อยู่ในเขตป่า หลักฐานที่จำเลยที่ 1, ที่ 3 และที่ 4 นำมาแสดงว่าที่เกิดเหตุมีเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานของโจทก์ได้ นั้น โจทก์มีนายสุรพล ปลัดอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เบิกความเป็นพยานว่า พยานกับพวกร่วมกันตรวจสอบรถกระบะซึ่งบรรทุกไม้มาเต็มคัน โดยมีนายชัยวุฒิเป็นผู้ขับรถกระบะแจ้งว่าเอกสารเกี่ยวกับไม้อยู่ที่จำเลยที่ 1 พร้อมทั้งพาพยานกับพวกเดินทางไปที่เกิดเหตุห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่หมู่ที่ 1 ตำบลท่าผา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง พยานพบกับจำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 1 แจ้งว่ามีเอกสารเกี่ยวกับการทำไม้อยู่กับอีกบุคคลหนึ่ง พยานตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุแต่ไม่พบหลักเขต จึงประสานงานไปยังสำนักงานป่าไม้เพื่อเข้าไปตรวจสอบว่าที่เกิดเหตุเป็นป่าหรือไม่ ซึ่งต่อมาพยานทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเอกสารไปมอบให้สำนักงานป่าไม้ตรวจสอบว่าที่เกิดเหตุมิใช่ป่า จึงเท่ากับว่ายังไม่มีพยานหลักฐานใดที่ยืนยันว่าบริเวณดังกล่าวเป็นป่า นายสุรพลเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่า พยานเป็นคนจัดทำแผนที่เกิดเหตุ ซึ่งตามแผนที่เกิดเหตุดังกล่าวระบุ 18?15’28.3″N และระบุ 99?32’40.1″E เป็นจุดที่นายสุรพลยืนยันว่าอยู่ในหมู่ที่ 1 ตำบลท่าผา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งตำแหน่งละติจูดและลองติจูดดังกล่าวสำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง สาขาเกาะคา มีหนังสือถึงศาลจังหวัดลำปางแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจากระวางแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1 : 50,000 แล้ว ตำแหน่งพิกัดดังกล่าวอยู่ในระวาง 4945IV5618 ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง ดังนั้น พิกัดที่ดินที่เกิดเหตุที่นายสุรพลระบุในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ว่าเหตุเกิดที่ตำบลท่าผา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง จึงไม่ตรงกับการตรวจสอบของสำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง สาขาเกาะคา ที่ยืนยันว่าพิกัดดังกล่าวตั้งอยู่ที่ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง อันเป็นการแสดงให้เห็นว่ายังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าที่เกิดเหตุอยู่บริเวณใดและอยู่ในเขตป่าหรือไม่ นายสุรพลเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านต่อไปว่า หลังเกิดเหตุประมาณ 4 ถึง 5 วัน จำเลยทั้งสี่ได้นำสำเนาโฉนดที่ดินมาให้พยานตรวจสอบ แต่พยานเห็นว่าได้ส่งเรื่องให้แก่พนักงานสอบสวนแล้ว จึงขอให้นำไปมอบให้แก่พนักงานสอบสวน นอกจากนั้นนายสุรพลยังเบิกความว่าหลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสี่ได้พยายามขอเข้าพบพยานเพื่อให้พยานไปตรวจสอบหาหลักเขตในที่เกิดเหตุ แต่พยานไม่ได้ไปเนื่องจากได้มอบเอกสารและสำนวนทั้งหมดให้แก่พนักงานสอบสวนไปแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยทั้งสี่ได้นำเอกสารโฉนดที่ดินมาแสดงว่าที่เกิดเหตุไม่ใช่ป่า พร้อมทั้งแจ้งขอให้นายสุรพลไปดำเนินการเพื่อตรวจสอบหาหลักเขตในที่เกิดเหตุ แต่นายสุรพลในฐานะผู้จับกุมก็ไม่ได้ดำเนินการให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าหรืออยู่ในเขตที่ดินซึ่งมีโฉนดที่ดินดังที่จำเลยทั้งสี่นำมากล่าวอ้าง พันตำรวจตรีมนตรี พนักงานสอบสวน เบิกความว่า พยานร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และจำเลยที่ 1 ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ทำการตรวจหาพิกัดที่เกิดเหตุเพื่อจะได้ทราบว่าเป็นพื้นที่ป่าตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งต่อมาสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) ได้มีหนังสือแจ้งว่าที่เกิดเหตุอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่จะเป็นพื้นที่ป่าตามกฎหมายหรือไม่ต้องพิจารณาถึงหลักฐานการครอบครองที่ดินตามหนังสือของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) พันตำรวจตรีมนตรีตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุแต่ไม่พบหลักเขตในที่เกิดเหตุ เห็นว่า เมื่อสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) มีหนังสือยืนยันว่าที่เกิดเหตุอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่จะเป็นที่ป่าตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 หรือไม่ ต้องพิจารณาถึงหลักฐานการครอบครองที่ดิน โดยสำนักจัดการทรัพยากรป่าที่ 3 (ลำปาง) ขอให้สอบถามไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง สาขาเกาะคา ต่อไป อันเป็นการยืนยันว่าที่เกิดเหตุอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่จะเป็นป่าหรือไม่ให้สอบถามไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง แต่พันตำรวจตรีมนตรีก็มิได้ดำเนินการเพื่อให้สำนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง สาขาเกาะคา ดำเนินการร่วมกันตรวจสอบว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดที่จำเลยทั้งสี่กล่าวอ้างหรือไม่ และยังได้ความจากพันตำรวจตรีมนตรีเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่า จำเลยที่ 1 ยืนยันว่าทำการตัดไม้ในที่ดินมีโฉนดที่มีเอกสารสิทธิ ไม่ใช่ป่า หากนำเจ้าพนักงานที่ดินไปยังที่เกิดเหตุเจ้าพนักงานที่ดินสามารถทำการตรวจสอบได้ว่าที่เกิดเหตุตรงกับสำเนาโฉนดที่ดินหรือไม่ ซึ่งเท่ากับว่าพันตำรวจตรีมนตรีทราบเป็นอย่างดีว่าผู้ซึ่งจะยืนยันว่าที่เกิดเหตุเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินตามที่จำเลยที่ 1 อ้างหรือไม่คือเจ้าพนักงานที่ดิน แต่พันตำรวจตรีมนตรีก็มิได้ดำเนินการให้เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบที่เกิดเหตุแต่ประการใด นอกจากนี้พันตำรวจตรีมนตรีเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่า พยานเบิกความในคดีที่โจทก์ยื่นฟ้องนายชัยวุฒิ ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยทั้งสี่นี้ไว้อีกคดีหนึ่งตามบันทึกคำให้การพยานโจทก์ ซึ่งในคดีดังกล่าวพันตำรวจตรีมนตรีเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า พยานได้ประสานไปยังเจ้าพนักงานที่ดินให้ไปร่วมตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุเมื่อครั้งที่พยานไปตรวจสอบพร้อมกับจำเลยที่ 1 แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าต้องรอลำดับการตรวจสอบ ต้องใช้เวลานาน พยานเห็นว่าหากรอลำดับการเข้าตรวจสอบของเจ้าพนักงานที่ดินจะทำให้คดีล่วงเลยเวลานานเกินไปอันเป็นเหตุผลที่ไม่ให้เจ้าพนักงานที่ดินไปตรวจสอบที่เกิดเหตุนั้นเอง ซึ่งเท่ากับว่าพยานโจทก์ปากนายสุรพลและพันตำรวจตรีมนตรีไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าที่เกิดเหตุเป็นป่า ลำพังนายสุรพลและพันตำรวจตรีมนตรีไปตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุในเบื้องต้น แต่ไม่พบหลักเขตก็อาจเกิดจากบริเวณที่เกิดเหตุมีต้นไม้และหญ้าขึ้นรกทั้งหลักเขตอาจฝังอยู่ในพื้นดิน การที่จะตรวจสอบพบหลักเขตจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามิใช่ตรวจพบได้โดยง่าย จึงมิใช่ข้อเท็จจริงที่จะรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดินหรือเป็นป่า เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันทำไม้ในเขตป่า โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดินจึงเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) เมื่อทางนำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าที่เกิดเหตุเป็นป่าดังที่ศาลได้วินิจฉัยมาแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1, ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม้ของกลางที่ยังมิได้แปรรูปที่จำเลยที่ 1, ที่ 3 และที่ 4 มีไว้ในครอบครองเป็นไม้จำนวนเดียวกันกับไม้ที่จำเลยที่ 1, ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันทำไม้ในที่เกิดเหตุซึ่งไม่ใช่ป่าแต่เป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ การที่จำเลยที่ 1, ที่ 3 และที่ 4 มีไม้ดังกล่าวไว้ในครอบครองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share