คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5765/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.อ. อาญา มาตรา 309 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น …” ดังนี้ การที่ผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้นตามที่ถูกข่มขืนใจจึงเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ด้วย ซึ่งโจทก์ต้องบรรยายให้ปรากฏในคำฟ้อง เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยบังอาจถืออาวุธปืนพร้อมกับชี้นิ้วและพูดจาข่มขู่เพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กระทำการก่อสร้างที่พักคนงาน อันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย โดยโจทก์มิได้บรรยายว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้นหรือไม่ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามกฎหมายดังกล่าวที่โจทก์ขอให้ลงโทษ คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 309 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 8 ทวิ, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธ จำคุกกระทงละ 2 เดือน และปรับกระทงละ 2,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนของตนเองที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 2,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสี่ ฐานข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธ คงจำคุกกระทงละ 1 เดือน 15 วัน และปรับกระทงละ 1,500 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 2 เดือน 30 วัน และปรับ 3,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนของตนเองที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงปรับ 1,500 บาท รวมจำคุก 2 เดือน 30 วัน และปรับ 4,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง, 72 ทวิ วรรคสาม ฐานพาอาวุธปืนของตนเองที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ไปโดยเปิดเผย ให้ยกฟ้องข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำหรือไม่กระทำการใดโดยมีอาวุธ ไม่รอการลงโทษ และไม่คุมความประพฤติของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องของโจทก์ข้อ 1 ข. และข้อ 1 ค. ในความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษ…” ดังนี้ การที่ผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้นตามที่ถูกข่มขืนใจ จึงเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ด้วย ซึ่งโจทก์ต้องบรรยายให้ปรากฏในคำฟ้อง แต่โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1 ข. ว่า จำเลยโดยมีอาวุธปืนที่จำเลยพกพาติดตัวไปอันเป็นความผิดดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ก. และในขณะที่นายเพ็ชร ผู้เสียหายที่ 2 นายอัตติพงษ์ ผู้เสียหายที่ 3 และนายมานพ ผู้เสียหายที่ 4 ทำการก่อสร้างแคมป์ที่พักคนงานอยู่ที่บริเวณริมคลองชลประทานพระยาวิสูตร์หรือคลองแสมขาว ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่นั้น จำเลยได้บังอาจถืออาวุธปืนดังกล่าวพร้อมกับชี้นิ้วและพูดจาข่มขู่เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 กระทำการก่อสร้างดังกล่าวต่อไปโดยพูดว่า “ช่างให้หยุดก่อสร้าง ถ้าไม่หยุดจะเดือดร้อนแน่” อันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย และจากการข่มขืนใจของจำเลยดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กับบรรยายฟ้องข้อ 1 ค. ว่า ภายหลังจากจำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ข. แล้ว จำเลยโดยมีอาวุธปืนที่จำเลยพกพาติดตัวไป อันเป็นความผิดดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ก. และในขณะที่นางณัฐสุรางค์ ผู้เสียหายที่ 1 กำลังให้ช่างทำการก่อสร้างแคมป์ที่พักคนงานอยู่ที่บริเวณริมคลองชลประทานพระยาวิสูตร์หรือคลองแสมขาว ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่นั้น จำเลยได้บังอาจถืออาวุธปืนดังกล่าววิ่งเข้าไปจะทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 กระทำการก่อสร้างดังกล่าวต่อไปโดยพูดว่า “จะไม่ให้ก่อสร้าง หากขืนก่อสร้างเดือดร้อนแน่” และถามว่า “มึงจะเอาเลยมั้ย” อันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 1 ให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย และจากการข่มขืนใจของจำเลยดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยโจทก์มิได้บรรยายว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น หรือไม่ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวที่โจทก์ขอให้ลงโทษ คำฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share