แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดมี ผลิต หรือนำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์” ส่วนมาตรา 14 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดมีเลื่อยโซ่ยนต์อยู่ในวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ถ้ามาขอรับใบอนุญาตภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา 4 และให้นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ออกใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตนั้น เว้นแต่จะขาดคุณสมบัติที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ. นี้” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ให้ผู้ซึ่งปฏิบัติตามวรรคหนึ่งไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า” โดย พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2545 มีเจตนารมณ์ให้ผู้ที่มีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย นำมาขอรับใบอนุญาต เพื่อควบคุมการมีไว้ในครอบครองและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นการเพิ่มมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า และในขณะเดียวกันไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพที่ต้องใช้เลื่อยโซ่ยนต์โดยสุจริต เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 จำเลยที่ 1 มีเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ยังอยู่ในระยะเวลา 90 วัน นับแต่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยที่ 1 อาจยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ได้ จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง และไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามมาตรา 14 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลางและขอสินบนนำจับ
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำไม้เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท ฐานแปรรูปไม้ จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท ฐานมีไม้แปรรูป จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท รวมจำคุกคนละ 18 เดือน ปรับคนละ 15,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 9 เดือน ปรับคนละ 7,500 บาท ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ ให้ยกฟ้องโจทก์ตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง และ 17 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท ฐานซื้อหรือรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยรู้ว่าเป็นของที่มีผู้อื่นนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 52,000 บาท ฐานแปรรูปไม้จำคุก จำเลยทั้งสามคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 3,000 บาท ฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 3,000 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานทำไม้ในป่าสงวนแห่งชาติ จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 18 เดือน และปรับ 68,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 12 เดือน และปรับคนละ 11,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 เดือน และปรับ 34,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 5,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่จ่ายเงินสินบนนำจับเฉพาะความผิดฐานทำไม้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสามร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติร่วมกันแปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 จำเลยที่ 1 มีเลื่อยโซ่ยนต์พร้อมบาร์และโซ่ของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดต่อพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง และต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดมี ผลิต หรือนำเข้าเลื่อนโซ่ยนต์ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์” ส่วนมาตรา 14 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดมีเลื่อยโซ่ยนต์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามาขอรับใบอนุญาตภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา 4 และให้นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ออกใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตนั้น เว้นแต่จะขาดคุณสมบัติที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัตินี้” และวรรคสองบัญญัติว่า “ให้ผู้ซึ่งปฏิบัติตามวรรคหนึ่งไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า” โดยพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2545 มีเจตนารมณ์ให้ผู้ที่มีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย นำมาขอรับใบอนุญาต เพื่อควบคุมการมีไว้ในครอบครองและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นการเพิ่มมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า และในขณะเดียวกันไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพที่ต้องใช้เลื่อยโซ่ยนต์โดยสุจริต เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 จำเลยที่ 1 มีเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ยังอยู่ในระยะเวลา 90 วัน นับแต่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยที่ 1 อาจยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ได้ จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง และไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามมาตรา 14 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้มา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2