คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2295/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.7 และ ล.12 เป็นเอกสารโต้ตอบกันระหว่างโจทก์และจำเลย ระบุถึงความชำรุดบกพร่องของรองเท้าพิพาทและการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องโดยตัวแทนของโจทก์และจำเลย เมื่อฟ้องแย้งของจำเลยเป็นการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเกี่ยวกับโจทก์ส่งมอบรองเท้าพิพาทไม่ตรงตามแบบที่จำเลยกำหนด จึงเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดีอันเป็นข้อที่ทำให้แพ้ชนะระหว่างคู่ความ แม้จำเลยจะมิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่โจทก์อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 แต่จำเลยได้ใช้เอกสารดังกล่าวในการถามค้านพยานปากแรกของโจทก์ โจทก์ย่อมมีโอกาสที่จะหักล้างข้อเท็จจริงหรือโต้แย้งเอกสารดังกล่าวได้ การไม่ส่งสำเนาเอกสารของจำเลยไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2)
ในขณะที่จำเลยส่งเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.7 และ ล.12 ต่อศาลชั้นต้นโจทก์มิได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร คงคัดค้านเพียงว่าจำเลยมิได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่โจทก์เท่านั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้องศาลย่อมรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวได้
จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่สองระบุ อ. เป็นพยานเพิ่มเติมซึ่งศาลได้อนุญาตแล้ว อ. จึงเป็นพยานจำเลยที่สามารถนำเข้าเบิกความต่อศาลได้แม้ต่อมาจำเลยจะแถลงต่อศาลว่าติดใจสืบพยานจำเลยอีกเพียงสามปากซึ่งไม่รวม อ. ด้วยอันมีผลผูกพันจำเลยตามที่แถลงก็ตาม แต่ระหว่างสืบพยานจำเลยไม่เสร็จสิ้น จำเลยไม่สามารถนำ ร. ซึ่งเป็นพยานหนึ่งในสามปากมาเบิกความได้และขออ้าง อ. เป็นพยานเพิ่มเติมพร้อมกับยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งเป็นการที่จำเลยกลับใจนำ อ. ซึ่งได้เคยระบุอ้างไว้ในบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งสองเข้าเบิกความต่อไปเท่านั้น ซึ่งไม่มีกฎหมายห้าม คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมนั้นมิใช่การอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติม หากแต่มีผลเป็นการอนุญาตให้จำเลยนำ อ. ซึ่งได้ระบุอ้างเป็นพยานไว้แล้วเข้าเบิกความต่อไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2531 จำเลยได้สั่งซื้อสินค้ารองเท้าจากโจทก์ โดยจำเลยให้ผู้แทนของจำเลยในประเทศไทยเป็นผู้ตกลงกับโจทก์พร้อมทั้งกำหนดปริมาณการสั่งซื้อเป็นงวด ๆ โดยจำเลยเป็นผู้กำหนดและตรวจสอบ ชนิด คุณสมบัติและรายละเอียดต่าง ๆ ของการสั่งซื้อเป็นงวด ๆ ก่อนที่จะให้โจทก์นำรองเท้าดังกล่าวไปบรรทุกขนส่งทางทะเลหรือทางอากาศไปยังจุดหมายปลายทางที่จำเลยกำหนดในการชำระเงินจำเลยจะใช้วิธีเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตให้ธนาคารตัวแทนของจำเลยชำระแก่โจทก์แทนจำเลย โดยผ่านธนาคารตัวแทนโจทก์ ทั้งนี้โจทก์และจำเลยได้ปฏิบัติต่อกันเรื่อยมาจนกระทั่งในการสั่งซื้อรองเท้า 3 งวดสุดท้าย หลังจากส่งรองเท้าดังกล่าวแก่ผู้ขนส่งแล้วโจทก์ได้รวบรวมเอกสารต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในเล็ตเตอร์ออฟเครดิตส่งมอบให้แก่ผู้แทนของจำเลยในประเทศไทยเพื่อขอรับใบรับรองการตรวจสอบสินค้าเพื่อที่โจทก์จะได้นำไปประกอบการขอรับเงินค่าสินค้าตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิตจากธนาคารตามที่เคยปฏิบัติต่อกัน แต่จำเลยไม่ยอมออกใบรับรองการตรวจสอบสินค้าแก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ขาดเอกสารในการขอรับเงินค่ารองเท้าดังกล่าวจากธนาคารเนชั่นแนลเวสมินสเตอร์ พีแอลซี ฮ่องกง ตามที่ได้ระบุในเล็ตเตอร์ออฟเครดิตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งหากโจทก์ได้รับเงินค่าสินค้าดังกล่าวโจทก์จะได้รับประโยชน์จากเงินดังกล่าว คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ ส่งรองเท้าแต่ละรายการ ดอกเบี้ยเฉพาะคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 255,452.48 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 2,299,072.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 2,043,620 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า ในการซื้อรองเท้าจำนวน 300,000 คู่ ซึ่งโจทก์ต้องส่งมอบรองเท้าดังกล่าวเป็นงวด ๆ ตามที่ตกลงกันไว้นั้นผู้แทนของจำเลยในประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ตกลงซื้อ เพียงแต่ตรวจสอบคุณภาพของรองเท้าในเบื้องต้นด้วยการชักตัวอย่าง ซึ่งไม่ถือว่าจำเลยยอมรับรองเท้าที่ผ่านการตรวจสอบเบื้องต้นแต่อย่างใด แต่ลูกค้าของจำเลยในประเทศอังกฤษ ผู้ซื้อรองเท้าดังกล่าวจะทำการตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่า รองเท้านั้นถูกต้องตามแบบและมีคุณสมบัติถูกต้องตามที่กำหนดไว้หรือไม่ จำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องออกใบรับรองการตรวจสอบสินค้าแก่โจทก์ตามฟ้อง เพราะสัญญาซื้อขายไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาที่จำเลยจะต้องออกใบรับรองการตรวจสอบสินค้าแก่โจทก์ ก่อนหน้าส่งมอบรองเท้าตามฟ้องโจทก์เคยส่งมอบรองเท้าแก่จำเลยโดยส่งไปที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นรองเท้าที่ไม่ถูกต้องตามแบบและมีคุณสมบัติต่ำกว่าที่จำเลยกำหนดและผู้แทนจำเลยในประเทศไทยได้ตัดออกแล้วเป็นจำนวนมาก จนถูกลูกค้าของจำเลยในประเทศอังกฤษหลายรายปฏิเสธไม่ยอมรับ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการฉ้อฉลและผิดสัญญาซื้อขายทำให้จำเลยเสียหาย จำเลยจึงเห็นควรชำระราคารองเท้าตามฟ้องแก่โจทก์หลังจากลูกค้าของจำเลยในประเทศอังกฤษได้ตรวจสอบและตกลงรับรองเท้าที่โจทก์ส่งไปแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระราคารองเท้าตามฟ้องและดอกเบี้ย อีกทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ด้วย โจทก์ผิดสัญญาในการส่งมอบรองเท้าตามใบสั่งซื้อก่อนหน้าสินค้า 3 รายการ ตามฟ้องโจทก์ ซึ่งลูกค้าของจำเลยในประเทศอังกฤษปฏิเสธไม่ยอมรับรองเท้าที่โจทก์ส่งมอบตามใบสั่งซื้อนั้น ๆ บางส่วน และจำเลยได้หักราคารองเท้าที่ผู้ซื้อสินค้าปฏิเสธไม่ยอมรับรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการขนส่งตลอดจนค่าแกะตราออกจากจำนวนเงินค่ารองเท้าที่ลูกค้าของจำเลยจะต้องชำระให้แก่จำเลย รวมเป็นเงินที่ลูกค้าของจำเลยหักออกจากราคารองเท้าที่โจทก์ส่งออกทั้งสิ้น 357,029.63 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อจำเลยได้นำรองเท้าที่ลูกค้าของจำเลยไม่ยอมรับดังกล่าวไปขายในราคาต่ำได้เงินเป็นจำนวน177,006.06 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยจึงได้รับความเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน180,023.60 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่จำเลย นอกจากนี้โจทก์ผิดสัญญาโดยส่งรองเท้าตามใบสั่งซื้อตามฟ้องแย้งแก่จำเลยล่าช้ากว่ากำหนดที่ระบุไว้ในใบสั่งซื้อเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียอากรศุลกากรเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 8 ของราคาสินค้า คิดเป็นเงินค่าอากรที่เพิ่มขึ้น 53,233.80 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลย 233,257.40 ดอลลาร์สหรัฐ กับทั้งสินค้าที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยส่วนหนึ่งเกิดความชำรุดบกพร่องโดยเกิดรอยแตกขึ้นที่รองเท้าหลังจากที่ผู้ซื้อได้รับมอบรองเท้าไปแล้วเนื่องจากโจทก์ใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการผิดสัญญา ทำให้ลูกค้าของจำเลยคือบริษัทสติลโล พีแอลซี เรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นเงิน 36,827.50 ปอนด์สเตอร์ลิงก์ ซึ่งโจทก์ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยด้วย รวมเป็นค่าเสียหายคิดเป็นเงินไทย 7,534,706.80 บาท จำเลยทวงถามแล้วแต่โจทก์เพิกเฉย ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 7,534,706.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกี่ยวกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง จึงเป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม โจทก์ไม่เคยตกลงกับจำเลยว่าให้ลูกค้าของจำเลยในประเทศอังกฤษทำการตรวจสอบรองเท้าอีกครั้งว่าถูกต้องตามแบบและมีคุณภาพตามที่กำหนดไว้หรือไม่ โจทก์ได้ส่งมอบรองเท้าแก่จำเลยถูกต้องตามใบสั่งซื้อในฟ้องแย้ง เพราะตามข้อตกลงเมื่อจำเลยอนุญาตให้โจทก์ส่งรองเท้าออกจากประเทศไทยได้โดยจำเลยได้ตรวจสอบรองเท้าดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นการรับมอบสินค้าจากโจทก์แล้ว ทั้งจำเลยได้ออกใบรับรองการตรวจสอบสินค้าตามฟ้องแย้งแก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ไปรับเงินตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิตจากธนาคารและโจทก์ได้รับเงินจากธนาคารแล้ว การที่ผู้ซื้อในประเทศอังกฤษจะปฏิเสธหรือยอมรับรองเท้าโจทก์ไม่ต้องผูกพันด้วย เพราะโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดกับลูกค้าของจำเลยในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยในจำนวนเงิน 180,023.60 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้โจทก์มีสิทธิมอบรองเท้าให้แก่จำเลยได้ไม่เกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในเล็ตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยกำหนดมาให้ และตามขั้นตอนการผลิตรองเท้าของโจทก์อาจมีการล่าช้าบ้างซึ่งจำเลยสามารถระงับการส่งรองเท้าของโจทก์ในงวดที่เห็นว่าโจทก์ส่งมอบโดยผิดสัญญาได้ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในเงินค่าอากรที่เพิ่มขึ้นจำนวน 53,233.80ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ได้ผลิตรองเท้าดังกล่าวโดยถูกต้องตามหลักวิชาและโดยช่างฝีมือดีไม่ได้เกิดรอยแตกที่พื้นรองเท้าแต่อย่างใด ฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความเพราะเกิน 1 ปี นับแต่วันที่อ้างว่าได้เกิดความชำรุดบกพร่องค่าเสียหายเพราะความชำรุดบกพร่องโดยเกิดรอยแตกที่พื้นร้องเท้าไม่เกิน 1,000 ปอนด์สเตอร์ลิงก์ ส่วนค่าเสียหายอื่นไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,171,356.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 2,043,630 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 กรกฎาคม 2535) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้โจทก์ชำระเงิน 4,500,590 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 18 สิงหาคม 2535) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.7 และ ล.12 ต้องห้ามมิให้รับฟังเนื่องจากจำเลยมิได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันอันเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่ เห็นว่า เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.7 และ ล.12 ล้วนเป็นเอกสารโต้ตอบกันระหว่างโจทก์และจำเลยโดยมีข้อความในเอกสารระบุถึงความชำรุดบกพร่องของรองเท้าพิพาท และการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องดังกล่าวโดยตัวแทนของโจทก์และจำเลยเมื่อฟ้องแย้งของจำเลยเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับการที่โจทก์ส่งมอบรองเท้าพิพาทตามคำสั่งซื้อของจำเลยให้แก่ลูกค้าของจำเลยในประเทศอังกฤษซึ่งไม่ตรงตามแบบที่จำเลยกำหนด ดังนั้น เอกสารหมาย ล.1ถึง ล.7 และ ล.12 จึงเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดีอันเป็นข้อที่ทำให้แพ้ชนะในระหว่างคู่ความ แม้จำเลยจะมิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่โจทก์อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.7 และ ล.12 ในการถามค้าน นายจุมพล กีระติมโนชญ์ พยานโจทก์ซึ่งเข้าเบิกความเป็นปากแรก โจทก์ย่อมมีโอกาสที่จะนำพยานหลักฐานอื่นมาหักล้างข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.7 และ ล.12 หรือเบิกความโต้แย้งเอกสารดังกล่าวได้ การที่จำเลยไม่ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าว จึงไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบแต่อย่างใด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลจึงมีอำนาจที่จะรับฟังพยานเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.7 และ ล.12ดังกล่าวได้ตามมาตรา 87(2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่โจทก์ฎีกาประการต่อไปว่าเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.7 และ ล.12 เป็นเพียงสำเนาเอกสารมิใช่ต้นฉบับเอกสารจึงต้องห้ามมิให้รับฟังนั้น เห็นว่า ในขณะที่จำเลยส่งเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.7 และ ล.12 ต่อศาลชั้นต้น โจทก์มิได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารเหล่านั้นแต่ประการใด คงคัดค้านแต่เพียงว่าเอกสารเหล่านั้นจำเลยมิได้ส่งสำเนาให้แก่โจทก์เท่านั้นดังที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2537ดังนั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ยอมรับเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.7 และ ล.12 ถูกต้องแล้ว ศาลย่อมรับฟังเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.7 และ ล.12 ได้ แม้จะเป็นเพียงสำเนาเอกสารก็ตาม ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมอ้างนางแองเจล่า พาล์มเมอร์ เป็นพยานไม่ชอบนั้น ในส่วนนี้ปรากฏว่า ก่อนหน้านั้นจำเลยได้แสดงความจำนงในการที่จะนำนางแองเจล่าเข้าเบิกความเป็นพยานโดยยื่นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 พร้อมกับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ตามคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2537 ระบุนางแองเจล่าเป็นพยานเพิ่มเติมในลำดับที่ 36 ซึ่งศาลชั้นต้นได้อนุญาต นางแองเจล่าจึงเป็นพยานจำเลยที่สามารถนำเข้าเบิกความต่อศาลได้อยู่แล้ว แม้ว่าต่อมาจำเลยจะแถลงต่อศาลชั้นต้น ติดใจสืบพยานจำเลยอีกเพียง 3 ปาก คือ นายสตีฟ เค จุง นายโรเบิร์ต แมคเคนซี่ และนายสมศักดิ์ ทองประไพตามคำแถลงของจำเลยฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2538 และตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 4 กันยายน 2538 และฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2538 ซึ่งมีผลให้จำเลยต้องผูกพันตามที่ตนแถลงก็ตาม แต่ต่อมาระหว่างที่ยังสืบพยานจำเลยไม่เสร็จสิ้น จำเลยยื่นคำร้องไม่สามารถนำนายโรเบิร์ตมาเบิกความต่อศาลได้ เนื่องจากได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของบริษัทอามัลกาเมท ชูส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด แล้ว และขออนุญาตระบุอ้างนางแองเจล่าเป็นพยานจำเลยเพิ่มเติมพร้อมกับยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ตามคำร้องของจำเลยและบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมจำเลยฉบับลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2539 นั้น คำร้องของจำเลยดังกล่าวเป็นแต่เพียงการที่จำเลยกลับใจขอนำนางแองเจล่าพยานจำเลยซึ่งได้เคยระบุอ้างไว้ในบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เข้าเบิกความต่อไปเท่านั้น ซึ่งก็ไม่มีกฎหมายใดห้ามมิให้จำเลยกระทำเช่นนั้น การที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2539 ว่า เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมจำต้องสืบพยานเช่นว่านั้น จึงอนุญาตให้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นดังกล่าวก็มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติม หากแต่มีผลเป็นการอนุญาตให้จำเลยนำนางแองเจล่า ซึ่งได้ระบุอ้างเป็นพยานไว้แล้วเข้าเบิกความต่อไปได้ตามที่จำเลยขอ ดังนั้น การที่จำเลยนำนางแองเจล่าเข้าเบิกความเป็นพยานต่อศาลชั้นต้นตามที่ศาลชั้นต้นได้อนุญาตจึงชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share